[บทความแปล] หุ่นยนต์ในบ้าน

บทความเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในบ้าน เขียนโดย Greg Shirakyan จาก Microsoft Robotics group เผยแพร่ที่  IEEE Spectrum Automaton

น่าสนใจดี แปลมาแบบย่อๆ นะครับ เผื่อใครขี้เกียจอ่าน อ่านเต็มๆ ได้ที่  IEEE Spectrum Automaton นะครับ

หุ่นยนต์ในบ้าน (household robot) คืออะไร เวลาถาม มักจะได้คำตอบว่า หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน ถ้าถามต่อว่าอะไรอีก ก็จะนึกไม่ค่อยออกกัน

แต่ถ้าถามเด็ก ซึ่งไม่ค่อยมีข้อจำกัดในมุมมอง อาจได้คำตอบแบบ Transformer หรือหุ่นยนต์ที่ช่วยทำการบ้าน เล่นเกมด้วย หุ่นยนต์ที่มีคฑาวิเศษ…

แล้วนิยามของหุ่นยนต์ในบ้านคืออะไร ไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่อาจจะกล่าวได้ว่ามันคือ อุปกรณ์ที่ฉลาดที่เคลื่อนที่ไปในบ้านและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้

คำว่าฉลาดในที่นี้ อาจไม่จำเป็นต้องฉลาดแบบที่ทำอะไรทุกอย่างได้เองในแบบที่นักวจัยพยายามพัฒนากันอยู่ แต่ฉลาดพอที่จะทำงานเองได้โดยไม่ต้องมีคนบังคับอยู่ตลอด และทำงานได้โดยไม่ติดขัด

แล้วทำไมต้องเคลื่อนที่ได้ เพราะมันต้องไปในที่ต่างๆ ในบ้านได้ และอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ คือ การเคลื่อนที่ได้แสดงถึงความฉลาด… และคนจะรู้สึกว่ามันมีชีวิต เชื่อหรือไม่ว่ามีคนตั้งชื่อให้กับ Roomba ของเขา ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ฉลาดไปกว่าคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้กันอยู่เลย

หุ่นยนต์ในบ้านที่พอจะมีขายกันอยู่ในปัจจุบัน มีแค่ ของเล่น ซึ่งดูฉลาด แต่จริงๆ แล้วไม่ค่อยเท่าไหร่ กับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ทั้งๆ ที่เรามีหุ่นยนต์ออกไปสำรวจดาวให้เรา อยู่ในสายการผลิต  และในทางทหาร มานานมากๆ แล้ว

แล้วทำไมเราไม่มีหุ่นยนต์ใช้ในบ้านซักทีละ

1# สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม

เพราะว่าบ้านเราออกแบบให้เหมาะสมกับมนุษย์ หุ่นยนต์จึงทำงานได้ลำบาก ลองคิดดูสิว่าขนาดเด็กๆ เรายังต้องมีเก้าอี้เด็ก(ที่สูง) ช้อน ส้อม เล็กๆ ส้วมเล็กๆ หรือว่าถ้าแมวคุณมี IQ 120 มันก็คงทำไข่เจียวให้คุณไม่ได้อยู่ดี….

การที่จะให้หุ่นยนต์ทำอาหารให้เรา กระบวนการมันไม่ยากหรอก มันมีขึ้นตอนตายตัวอยู่แล้วไม่กี่ขั้นตอน แต่เราอาจจะต้องมีจาน ชาม กระทะ เตา ที่หุ่นยนต์ใช้งานได้ง่าย

จริงๆ แล้ว หุ่นยนต์ในบ้านที่มีประโยชน์ อาจไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่ด้วยซ้ำ แขนกลแบบในอุตสาหกรรมที่มีมือจับที่หยิบจับอุปกรณ์ได้หลายอย่างอาจเป็นประโยชน์กว่า เช่น มีมือที่เอาไว้ตีไข มือที่เอาไว้พลิกแพนเค้ก

#2 ความฉลาดทางสังคม

ความสามารถในการโต้ตอบของหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังเทียบเท่ากับเด็กทารกอยู่เลย แต่หุ่นยนต์ที่จะเป็นประโยชน์ในบ้านจำเป็นต้องมีความฉลาดทางสังคมหรือไม่

เราอาจจะมีหุ่นยนต์ชั้นแรงงาน (Blue collar robot) ที่ทำงานที่เราต้องทำ แต่ไม่อยากทำ ไม่ชอบทำ หรือทำไม่ได้ เช่น ทำความสะอาด ทำอาหาร ดูแลความปลอดภัย ซึ่งเริ่มมีผู้พัฒนาแล้ว เห็นจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่น

และอีกจำพวกคือหุ่นยนต์ที่มีทักษะขั้นสูงเฉพาะทาง (White collar robot) ที่ช่วยทำในสิ่งที่เราอยากทำ เช่น งานสร้างสรร งานทางสังคม งานทางบันเทิง

สำหรับหุ่นชั้นแรงงาน ที่เราให้มันทำสิ่งที่เราไม่อยาก เราอาจจะยอมปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้มันทำงานได้สะดวก แต่หุ่นชั้นสูงที่ทำงานที่เราทำเพราะเราอยากทำ เราจึงไม่คาดหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเราให้หุ่นพวกนี้ทำงานง่ายขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าถ้ามันทำให้เรามีความสุขได้ เราอาจยอมปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้มันได้บ้าง

#3 รูปแบบมาตรฐาน

สำหรับคอมพิวเตอร์ ทุกคนรู้ดีว่าจะประกอบด้วยกล่องกล่องหนึ่ง หน้าจอ แป้นพิมพ์ เหมือนๆ กันหมด ทำให้ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการทำอะไรต่อมิอะไรให้เรา พัฒนาได้ง่าย เพราะมีรูปแบบมาตรฐาน

แต่สำหรับหุ่นยนต์แล้ว เราไม่มีรูปแบบหุ่นยนต์ที่เป็นมาตรฐาน แต่ก็ทำอะไรต่อมิอะไรได้มากพอ ในแบบที่คอมพิวเตอร์ทำอะไรต่อมิอะไรที่เป็นดิจิตอลได้

ในปัจจุบันมีผู้พัฒนา platform หุ่นยนต์ขึ้นมาหลายเจ้า ซึ่งออกแบบมาให้ผู้พัฒนาเอาไปพัฒนาระบบควบคุม ระบบอัจฉริยะต่อเอง โดยไม่ต้องมากังวลเรื่องการต่ออุปกรณ์

หรือจริงๆ หุ่นยนต์อาจจะไม่ต้องทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่เป็นเหมือน universal remote ที่คอยควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านเราก็ได้

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหา คือ เรื่องความเป็นส่วนตัว เมื่อหุ่นยนต์อยู่กับเรามากขึ้น รู้อะไรเกี่ยวกับเรา ระบบในบ้าน ถ้ามันถูกแฮกละ จะเกิดอะไรขึ้น ? จะต้องป้องกันอย่างไร

แล้วหุ่นยนต์ในบ้านที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเราจริงจังเป็นอย่างไร และจะมาเมื่อไหร่ เป็นคำถามที่ยาก เมื่อเทคโนโลยีสูงพอถูกนำมาใช้ และเรายอมรับมัน มันก็ต้องปรับเข้ากับรูปแบบการดำรงชีวิตของเราด้วย คือ ต้องปรับกันไปปรับกันมา รู้หรือไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จเครื่องแรกคือ เตารีดไฟฟ้า ที่เสียบเข้าไปกับขั้วหลอดไฟ (ไม่ได้เสียบเข้ากับเต้าเสียบ)

สุดท้าย หุ่นยนต์ในบ้านจะเป็นอย่างไร อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นอุปกรณ์ที่เราขาดมันไม่ได้ มันต้องธรรมดา เรียบง่าย ราคาถูก เราอาจไม่รู้ว่ามันมีอยู่แต่มันแฝงไปกับสิ่งต่างๆ รอบตัว บ้างอาจทำงานแรงงาน บ้างอาจสร้างแรงบรรดาลใจให้เรา เราอาจแยกไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นบ้าน และส่วนไหนเป็นหุ่นยนต์

ที่มา Microsoft Robotics Group’s blog ผ่านทาง IEEE Spectrum Automaton
ภาพจาก IEEE Spectrum Automaton, Centurion Magazine

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...