Human, Android and Media โดย Hiroshi Ishiguro

นอกจากจะนำ Geminoid-F มาแสดงละครเวทีซาโยนาระแล้ว (บทความเก่า “ถ้าไม่เหงา ก็จะมีความสุขไม่ใช่หรอ” ซาโยนาระหลังฉากซาโยนาระ) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2555 ศาสตราจารย์ Hiroshi Ishiguro ยังได้มาบรรยายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ “Human, Android and Media” (อาจผิดพลาด แต่ประมาณนี้) พอดีผมเป็นผู้ประสานงานการบรรยายนี้ เลยไม่ได้อยู่ฟังตลอด จะเล่าให้ฟังเท่าที่ได้อยู่ฟังแล้วกันนะครับ

ศาสตราจารย์ Hiroshi Ishiguro กับ Geminoid ที่เหมือนตัวเขา – ภาพจาก http://www.geminoid.jp/projects/kibans/resources.html
  • ในขณะนี้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ยังไม่ฉลาดมาก รูปแบบหุ่นยนต์ที่เหมาะสมจะนำมาใช้งาน (practical) คือ หุ่นยนต์แบบกึ่งอัตโนมัติ กล่าวคือ หุ่นมีความเป็นอัตโนมัติในระดับหนึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปมาและทำงานง่าย ๆ ได้ และเมื่อเจอสิ่งที่มันทำเองไม่ได้ก็ให้คนควบคุมจากระยะไกล (tele-operate) แทน วิธีนี้ทำให้คนหนึ่งคนสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก
  • ในอนาคตหุ่นยนต์จะเปลี่ยนจากหุ่นยนต์ทำงานในโรงงานมาเป็นหุ่นยนต์สังคม (social robot, interactive robot)
  • มนุษย์ถูกออกแบบมาให้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ใช่ icon ในประเทศญี่ปุ่นจึงมีการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ตอบโต้กับผู้ใช้ได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น เช่น หม้อหุงข้าวพูดได้ว่าข้าวสุกแล้วนะ
  • ถ้าเรารู้ว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ต้องการอะไร เราก็จะมีแบบสุดท้าย (final design) ของสิ่งต่างๆ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองต้องการอะไร ของต่าง ๆ จึงค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ
  • องค์ประกอบที่จะทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์
    • รูปลักษณ์ภายนอก (appearance)
    • การเคลื่อนไหว (movement)
    • การรับรู้ (perception)
    • การสนทนา (conversation)
    • ความสามารถในการเรียนรู้ (learning and development of software)
    • กลไกแบบธรรมชาติ (biomimetic mechanism)
  • การเคลื่อนไหวที่เหมือนมนุษย์ เช่น
    • การเคลื่อนไหวโดยจิตใต้สำนึก (subconscious movement)  เช่น การกระพริบตา ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวแบบนี้ก็แสดงว่าคนนั้นตายแล้วหละ
    • การเคลื่อนไหวแบบตอบสนอง (reaction movement) ซึ่งเกิดจากทั้งด้านกายภาพ (physical) และจิตใจ (mental) เช่น ถ้าโดนสะกิดก็จะหันมาหา แต่ถ้าโดนสะกิดบ่อย ๆ ก็จะรำคาญ
  • ศาสตราจารย์ Ishiguro ได้สร้าง Geminoid หุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์ขึ้นมาเพื่อใช้ศึกษาด้านการสื่อสาร การตอบสนองของคนกับหุ่นยนต์
Geminoid – ภาพจาก http://www.geminoid.jp/en/index.html
  • จากการทดลองสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนมนุษย์ ขยับไปมาแล้วดูการตอบสนองของคนว่ารู้สึกอย่างไรกับหุ่นยนต์นั้น ผลเป็นดังนี้
    • คนจริง ๆ – ผู้ทดลองมีความรู้สึกด้านบวก
    • หุ่นยนต์ที่เป็นโครงสร้างหุ่นยนต์เลย – ผู้ทดลองมีความรู้สึกด้านบวก
    • หุ่นยนต์ที่ใส่ผิวหนังให้เหมือนมนุษย์ (android) – ผู้ทดลองมีความรู้สึกด้านลบ
    • ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า uncanny valley คือ เมื่อหุ่นยนต์ค่อย ๆ เหมือนมนุษย์มากขึ้น มนุษย์จะมีความรู้สึกด้านบวกมากขึ้น จนถึงจุด ๆ หนึ่งซึ่งคนจะรู้สึกไม่ดีด้วย
uncanny valley – ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Uncanny_valley
  • android science คือ ศาสตร์ที่ศึกษาทั้งหุ่นยนต์ (robotics) และวิทยาการปัญญา (cognitive science)
  • มนุษย์เราไม่ได้จดจำบุคคลด้วยรูปลักษณ์ภายนอกหรือเสียง เวลาดูรูปตัวเองก็จะรู้ว่าเป็นแค่รูป หรือเวลาฟังเสียงตัวเองก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเสียงตัวเอง มนุษย์เรารู้จักตัวเองน้อยมากเมื่อเทียบกับรู้จักคนอื่น แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์จดจำคนอื่นได้คือ การจินตนาการ (imagination) เวลาเราคุยโทรศัพท์ เราจะจินตนาการถึงคนที่เราคุยด้วยอัตโนมัติ
  • ศาสตราจารย์ Ishiguro จึงมีความคิดที่จะสร้างหุ่นยนต์ที่ minimize design, maximize imagination คือ ไม่ต้องใส่รูปลักษณ์ว่าหุ่นยนต์เป็นเหมือนใคร แต่ให้ผู้ตอบโต้ด้วยเป็นผู้จินตนาการเอง จึงเกิดเป็น Telenoid ใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารทางไกล (telepresense) ที่สามารถพูด ขยับตัว แสดงอารมณ์ได้
Telenoid – ภาพจาก http://www.geminoid.jp/projects/kibans/res/Telenoid-resources.html
  • จาก Telenoid ศาสตราจารย์ Ishiguro ยังมีแผนพัฒนาต่อให้เล็กลง และพกพาได้ จนกลายเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่อไป เรียกว่า Elfoid (ศาสตราจารย์ Ishiguro แสดงความเห็นว่า iPhone ไม่ได้เป็นนวัตกรรมเลย เพราะ ความสามารถด้านการสื่อสารยังคงเหมือนเดิม คือ ส่งเสียง แต่ Elfoid สามารถส่งอารมณ์ ความรู้สึกได้ด้วย)
Elfoid – ภาพจาก http://www.geminoid.jp/projects/CREST/elfoid.html
  • หุ่นยนต์จะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารได้ดี เพราะ หลาย ๆ ครั้งที่คนเรารู้สึกลำบากใจที่จะคุยกับคนกันเอง แต่สามารถพูดกับหุ่นยนต์ได้อย่างสบายใจ (นึกถึง facebook ก็ได้ ที่คนมากมายเข้าไปบ่นอะไรต่อมิอะไรในนั้น ทั้ง ๆ ที่ในโลกจริงไม่กล้าพูดสิ่งเหล่านั้นออกมา)
  • คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพต่ำมาก เมื่อเทียบพลังงานที่สมองคนใช้ทำงาน กับคอมพิวเตอร์ทำงาน สมองใช้พลังงานน้อยกว่ามาก แต่มีความสามารถสูงกว่ามาก เพราะคอมพิวเตอร์ต้องกำจัดสัญญาณรบกวน (suppress noise) แต่ในทางธรรมชาติสัญญาณรบกวนมีอยู่ทุกที่ ธรรมชาติไม่พยายามกำจัดมัน แต่ใช้มันทำงาน ทำให้ลดพลังงานที่ต้องใช้ลง การควบคุมโดยใช้สัญญาณรบกวน (noise base control) เรียกว่า Yuragi
  • ในระบบที่ซับซ้อนมาก ธรรมชาติไม่ควบคุมทุก ๆ องค์ประกอบ แต่สนใจผลลัพธ์โดยรวม เช่น เวลาคนเราขยับแขน ร่างกายไม่ได้พยายามควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัดให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเจาะจง แต่พยายามขยับให้ปลายแขนไปในที่ที่ต้องการ
  • เรากำลังก้าวไปสู่ยุค trans-humanity คือ ยุคที่ก้าวข้ามระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ เราจะต้องนิยามกันใหม่ว่ามนุษย์คืออะไร มนุษย์มีหัวใจแต่หุ่นยนต์ไม่มีหรอ แล้วหัวใจคืออะไร ถ้าคนเราเปลี่ยนเป็นอวัยวะเทียมทั้งตัวจะยังเป็นมนุษย์อยู่รึเปล่า
  • สุดท้าย เราศึกษาและพัฒนาแอนดรอยด์ไม่ได้เพื่อให้ได้หุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์ แต่เป็นการศึกษาความเป็นมนุษย์ต่างหาก โดยใช้วิทยาการด้านหุ่นยนต์เป็นเครื่องมือ
LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...