ประกาศแล้ว DARPA Robotics Challenge

ก่อนหน้านี้เราได้เสนอข่าวไม่เป็นทางการเกี่ยวกับ Grand Challenge ครั้งต่อไปของ DARPA ตอนนี้ทาง DARPA ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความท้าทายครั้งนี้แล้ว กติกาไม่ต่างจากที่เคยมีข่าวนัก แต่ไม่จำกัดว่าหุ่นยนต์ต้องเป็นหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในข่าวครับ

DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) เป็นหน่วยงานวิจัยทางทหารของสหรัฐอเมริกา ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารมากมาย ที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ก็เช่นหุ่นยนต์ Cheetah ของ Boston Dynamics นอกจากจะให้ทุนวิจัยแล้ว DARPA ยังผลักดันการวิจัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยการจัดแข่งขัน ทำให้บรรดานักวิจัยต่าง ๆ ระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ การแข่งขันครั้งก่อนหน้าคือการแข่งขันพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Grand Challenge 2004-2005 ซึ่งจัดในทะเลทรายและ Urban Challenge 2007 ในสภาพแวดล้อมแบบเมือง การแข่งขันครั้งนั้นทำให้เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติก้าวหน้าไปมาก เห็นได้ชัดเจนจากโครงการรถยนต์อัตโนมัติของ Google ซึ่งผู้นำโครงการเป็นผู้คุมทีม Grand Challenge และ Urban Challenge มาก่อน ครั้งนี้ DARPA ต้องการผลักดันความก้าวหน้าในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โจทย์คือให้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเข้าไปทำงานสถานที่ที่ประสบภัยได้ ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมาคือเหตุภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ รายละเอียดการแข่งขัน ได้แก่

  • ความสามารถของหุ่นยนต์ที่จะถูกทดสอบ ได้แก่
    • สามารถขับเคลื่อนยานพาหนะได้
    • เคลื่อนที่ในพื้นที่ขรุขระได้
    • ยกสิ่งกีดขวางจากทางเดินได้
    • เปิดและเข้าประตูได้
    • ปีนบันไดได้
    • ใช้เครื่องมือ เช่น ค้อนกระแทก เพื่อทำลายกำแพงได้
    • ค้นหาและปิดวาล์วที่รั่วได้
    • เปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น ปั้ม ได้
  • เน้นไปที่หุ่นยนต์อัตโนมัติภายใต้การควบคุม (supervised autonomy)
  • ไม่จำกัดรูปแบบของหุ่นยนต์ว่าต้องเป็นหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ (humanoid)
  • ความยากง่ายของโจทย์อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความสามารถของผู้แข่งขัน
  • ไม่จำกัดสัญชาติของผู้แข่งขัน คนไทยก็ร่วมได้นะครับ
  • ผู้แข่งขันสามารถเลือกแข่งขันแบบพัฒนาทั้งหุ่นยนต์และระบบควบคุม หรือเฉพาะระบบควบคุมอย่างเดียวก็ได้
  • การแข่งขันเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2555 จนถึงธันวาคม 2557
  • รางวัลการแข่งขันครั้งนี้สูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อถูกถามว่าโจทย์ยากไปรึเปล่า ทาง DARPA ตอบว่า ยาก แต่เป็นไปได้ เป็นความยากระดับ DARPA

ที่มา BGR และ IEEE Spectrum Automaton
ภาพจาก IEEE Spectrum Automaton

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...