การสื่อสารระหว่างโลกและดาวอังคารจะถูกขัดขวางชั่วคราวจากการวางตัวของดวงอาทิตย์

Mars solar conjunction
Mars solar conjunction

ตำแหน่งของดาวอังคารในช่วงเดือนเมษายนนี้จะส่งผลทำให้ความสามารถในการสื่อสารระหวางโลกและหุ่นยนต์ที่กำลังปฎิบัติงานอยู่บนดาวอังคารลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เส้นทางโคจรของดาวอังคารจะเข้าไปอยู่บริเวณด้านหลังดวงอาทิตย์ และทำแนวซึ่งเกือบจะเป็นเส้นตรงเมื่อมองจากโลก ด้วยเหตุนี้การสื่อสารระหว่างโลก และดาวอังคารจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากรังสีของดวงอาทิตย์

เพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานของดาวเทียมที่โคจรอยู่โดยรอบ และหุ่นยนต์ที่อยู่บนพื้นผิวของดาวอังคารเกิดความผิดพลาดเนื่องจากการสื่อสารที่ขัดข้อง NASA ได้เตรียมที่จะหยุดการส่งข้อความไปยังดาวอังคารโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังจำเป็นต้องลดอัตราการสื่อสารจากดาวอังคารกลับมายังโลกอีกด้วย

ปรากฎการณ์ที่ดาวอังคาร ดวงอาทิตย์ และโลก เรียงตัวในลักษณะที่แทบจะเป็นเส้นตรงนี้มีชื่อเรียกว่า Mars solar conjunction ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 26 เดือน

อย่างไรก็ตาม Mars solar conjunction ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่ 6 ที่การสื่อสารระหว่างโลกและดาวอังคารจำเป็นต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวนับตั้งแต่การปล่อยดาวเทียม Odyssey ซึ่งเริ่มโคจรรอบดาวอังคารตั้งแต่ปี 2001 ทำให้ NASA มีประสบการณ์อย่างเหลือเฟือที่จะจัดการกับปรากฎการณ์ Mars solar conjunction ในครั้งนี้

แม้ว่า Mars solar conjunction จะเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่การเกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าดาวอังคารอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์แค่ไหน และระดับของกิจกรรมของดวงอาทิตย์ (solar activity) ว่ามีความตื่นตัวมากน้อยเพียงใด

การสื่อสารระหว่างโลก และดาวอังคารจะหยุดลงเมื่อมุมของดาวอังคาร และดวงอาทิตย์ห่างกันน้อยกว่า 2 องศาเมื่อวัดจากโลกซึ่งจะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 9 – 26 เมษายน ดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคารทั้งสองดวง (Mars Reconnaissance Orbiter และ Odyssey) จะลดหน้าที่ด้านการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ลง และจะคอยรับและบันทึกข้อมูลที่ส่งจากหุ่นยนต์ทั้งสองตัว (Curiosity และ Opportunity) ที่อยู่บนดาวอังคาร โดย Odyssey จะยังคงส่งข้อมูลกลับมายังโลกตลอดช่วงเวลาที่เกิด Mars solar conjunction แม้ว่าวิศวกรของ NASA ทราบดีว่าข้อมูลที่ส่งกลับมาจะมีการขาดหายในบางช่วง ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ทั้งหมดบนดาวเทียมทั้งสองดวงจะถูกส่งกลับมายังโลกอีกครั้งภายหลัง

ทางด้าน Mars Reconnaissance Orbiter จะเข้าสู่โหมดบันทึกข้อมูลเพียงอย่างเดียวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ไปตลอดช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ Mars solar conjunction ปริมาณข้อมูลที่จะเก็บเอาไว้ทั้งหมดบน Mars Reconnaissance Orbiter ในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าจะเป็นข้อมูล 40 gigabits จากการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของตัวมันเอง และอีก 12 gigabits ซึ่งเป็นข้อมูลที่ส่งมาจาก Curiosity โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะเริ่มถูกส่งกลับมายังโลกในวันที่ 1 พฤษภาคม

Mars solar conjunction ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 สำหรับหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร Opportunity ทางทีมผู้ควบคุมหุ่นยนต์จะไม่ส่งชุดคำสั่งใด ๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 26 เมษายนแต่ Opportunity จะดำเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวตามชุดคำสั่งระยะยาวที่ทางทีมวิศวกรประจำภารกิจของ Opportunity ได้วางแผนล่วงหน้าเอาไว้ยาวถึง 3 อาทิตย์ ซึ่งแน่นอนว่าภายในชุดคำสั่งดังกล่าวจะไม่มีคำสั่งให้ Opportunity เคลื่อนที่ไปไหนทั้งสิ้น

หุ่นยนต์ตัวล่าสุด Curiosity ที่พึ่งจะขึ้นไปอยู่บนดาวอังคารเมื่อไม่นานมานี้ก็จะยังคงปฎิบัติภารกิจในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไปเช่นกัน แต่จะเป็นการสำรวจอยู่กับที่เท่านั้น

ที่มา NASA

LINE it!