สรุปผล DARPA Robotics Challenge Trial 2013

drc-schaft-hose

จบไปแล้วกับ DARPA Robotics Challenge Trial 2013 อยากไปดูด้วยตาเสียจริง ๆ เลย ถึงแม้ไม่มีโอกาสได้ไปก็ขอรวบรวมผลการแข่งขันมาให้ดูกัน

หุ่นยนต์ต้องทำอะไรบ้าง

การแข่งขันแบ่งออกเป็น 8 ภารกิจ ได้แก่

ขับรถ ในปีนี้ยังไม่ต้องขึ้นรถเอง ตอนเริ่มหุ่นยนต์จะอยู่ในรถอยู่แล้ว แต่ในการแข่งขันปีหน้าหุ่นยนต์จะต้องขึ้นรถด้วย

เดินบนพื้นขรุขระ

ปีนบันได

ย้ายซากปรักหักพัง

เปิดประตู น่าสนใจตรงที่มีประตูตูดัน ประตูดึง และประตูดึงที่ปิดเองอัตโนมัติ

เจาะกำแพง ใช้สว่านมือกำแพงยิปซัมหนาครึ่งนิ้ว

เปิดวาล์ว

ต่อสายยางดับเพลิง

ให้คะแนนอย่างไร

แต่ละภารกิจจะมี 3 ภารกิจย่อย (เช่น เปิดประตู 3 บาน, เปิดวาล์ว 3 วาล์ว, เดินผ่านที่ขรุขระ 3 โซน เป็นต้น) แต่ละภารกิจย่อยจะมี 1 คะแนน และถ้าทำครบทั้ง 3 ภารกิจย่อยโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปยุ่งกับหุ่นยนต์โดยตรงจะได้โบนัสอีก 1 คะแนน รวมเป็น 4 คะแนนต่อ 1 ภารกิจ ทั้งหมด 8 ภารกิจเป็น 32 คะแนน

แข่งขันอย่างไร

แต่ละทีมจะถูกจัดให้แข่งทั้ง 8 ภารกิจ แต่ลำดับจะไม่เหมือนกัน ทีมจะสามารถเลือกทำทุกภารกิจย่อยหรือทำแค่บางภารกิจย่อยหรือไม่ทำทั้งภารกิจเลยก็ได้ (ภารกิจที่คิดว่าตัวเองเตรียมตัวมาไม่ดี ไม่แข่งเลยอาจจะดีกว่าแข่งแล้วหุ่นยนต์เสียหาย) เวลาในการแข่งขันแต่ละภารกิจมี 30 นาที จะใช้น้อยกว่าก็ได้ เวลาที่ใช้ทำภารกิจจะไม่มีผลต่อคะแนน ยกเว้นในกรณีคะแนนออกมาเท่ากัน หุ่นยนต์จะถูกควบคุมจากระยะไกล แต่สนับสนุนให้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในระหว่างการแข่งขันจะมีการปรับช่องความกว้างสัญญาณ (bandwidth) ระหว่างหุ่นยนต์และผู้ควบคุม

scoreboard
scoreboard

วิดีโอการแข่งขัน

สรุปวันที่ 1

สรุปวันที่ 2

วิดีโออื่น ๆ เช่น แนะนำทีม, วิดีโอการแข่งขันแต่ละภารกิจ (ยาวเป็นสิบชั่วโมง …) เบื้องหลังการแข่งขัน สามารถชมได้ที่ Youtube Channel ของ DARPA

ผลการแข่งขัน

  1. SCHAFT 27 คะแนน
  2. IHMC Robotics (Atlas) 20 คะแนน
  3. Tartan Rescue  18 คะแนน
  4. MIT (Atlas) 16 คะแนน
  5. RoboSimian 14 คะแนน
  6. TRACLabs  (Atlas) 11 คะแนน
  7. WRECS (Atlas) 11 คะแนน
  8. Trooper (Atlas) 9 คะแนน
  9. THOR 8 คะแนน
  10. VIGIR (Atlas) 8 คะแนน
  11. KAIST 8 คะแนน
  12. HKU (Atlas) 8 คะแนน
  13. DRC-Hubo 3 คะแนน
  14. Chiron 0 คะแนน
  15. NASA-JSC 0 คะแนน
  16. Mojavaton 0 คะแนน

โดย 8 ทีมแรกจะได้รับเงินสนับสนุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (ประมาณ 30 ล้านบาท) ในการพัฒนาเพื่อแข่งในรอบถัดไป ส่วนทีมอื่น ๆ สามารถเข้าแข่งขันได้โดยใช้ทุนส่วนตัว

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลสำหรับหุ่นยนต์ที่ทำภารกิจยอดเยี่ยมในแต่ละภารกิจ

  • ขับรถ – WRECS
  • เดินบนพื้นขรุขระ – SCHAFT
  • ปีนบันได – SCHAFT
  • ย้ายซากปรักหักพัง – SCHAFT
  • เปิดประตู -IHMC Robotics
  • เจาะกำแพง – IHMC Robotics
  • เปิดวาล์ว – THOR
  • ต่อสายยางดับเพลิง – SCHAFT

สิ่งที่น่าสนใจ

  • Gill Pratt ผู้ดูแลการแข่งขันจาก DARPA กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันที่ยาก และเขาเคยคิดว่า ถ้ามีแค่หนึ่งทีมที่ได้คะแนนเกินครึ่งก็เยี่ยมยอดแล้ว แต่มีทีมที่ทำคะแนนได้เกินครึ่งถึง 4 ทีม ทำให้การแข่งขันครั้งหน้าอาจจะมีการเพิ่มความยากมากกว่าที่เดิมตั้งใจไว้ (เพิ่มเติมโดยผู้เขียน – Grand Challenge ในปีแรก ไม่มีทีมใดทำระยะทางได้เกิน 1 ใน 20 ของระยะทางรวมด้วยซ้ำ) 
  • โดยรวมแล้ว หุ่นยนต์สามารถทำภารกิจได้ ถึงแม้จะยังทำได้ช้าอยู่ หากเกิดภัยพิบัติขึ้นพรุ่งนี้เลย หุ่นยนต์พวกนี้คงจะช่วยอะไรได้บ้าง
  • ไม่มีหุ่นยนต์ตัวใดที่สมบูรณ์แบบทำงานได้ดีในทุกภารกิจ หุ่นยนต์ที่ไม่ได้มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ (humanoid) เช่น RoboSimian และ Tartan Rescue CHIMP สามารถเคลื่อนที่ผ่านที่ขรุขระได้ดี แต่ทำภารกิจอื่น เช่น ปีนบันได ขับรถได้ยาก ในขณะที่หุ่นยนต์ 2 ขาจะเดินบนพื้นขรุขระได้ยากกว่า
  • ของจริงโหดกว่าในห้องทดลอง การพัฒนาหุ่นยนต์ในห้องทดลองนั้น สภาพแวดล้อมทุกอย่างถูกกำหนดมา แต่เมื่อเจอสภาพแวดล้อมจริงที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้งานยากขึ้นเยอะ เช่น สภาพแสง เงา ลมแรง และถึงแม้ว่าการแข่งขันนี้โหดแล้ว แต่ก็ยังเป็นความโหดแบบจำลองขึ้นมา ในภารกิจจริงยากกว่านี้อีกแน่นอน
  • หุ่นยนต์กับมนุษย์ไม่เหมือนกัน งานแบบเดียวกันหุ่นยนต์ทำด้วยวิธีอื่นอาจจะง่ายกว่า เช่น หุ่นยนต์ humanoid ทั่วไปมักจะเดินย่อเข่าเล็กน้อย ทำให้การเดินขึ้นบันไดที่ชันเป็นไปได้ยาก เพราะเข่าจะชนขั้นบันได บางทีมจึงให้หุ่นยนต์ถอยหลังขึ้นบันได
  • ถึงหุ่นยนต์จะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่เสถียร ไม่ทน ก็ปฏิบัติงานไม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในการแข่งขันทุกครั้ง แต่การแข่งขันครั้งนี้ถือว่าหุ่นยนต์มีสภาพแข็งแรง ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี
  • ตอนนี้ฮาร์ดแวร์ไม่ใช่ข้อจำกัดแล้ว หุ่นยนต์ทุกตัวมีความสามารถในทางฮาร์ดแวร์ที่ตอบโจทย์ทุกภารกิจได้ เหลือแค่เพียงระบบควบคุมและปัญญาประดิษฐ์ที่ดีเท่านั้น
  • เซนเซอร์จำนวนมากจะไม่มีประโยชน์เลย หากหุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ เพราะข้อมูลที่มากเกินไปไม่สามารถส่งผ่าน bandwidth ที่จำกัดได้ และข้อมูลที่มากเกินไปก็เกินความสามารถที่ผู้ควบคุมจะรับไหว
  • การฝึกซ้อมมีผลต่อความสำเร็จของภารกิจอย่างมาก SCHAFT พัฒนาหุ่นยนต์ต่อยอดจากหุ่นยนต์ตัวเดิม ทำให้มีเวลาซ้อมเยอะ ทำให้ทำภารกิจได้ดี ต่างจากหลายทีมที่พัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ทำให้มีเวลาซ้อมน้อย
  • หุ่นยนต์ที่มีบุคลิก (เช่น ทำท่าทางดีใจเวลาทำภารกิจได้ พูดแซวได้) เป็นที่ถูกใจของผู้คน
  • เพิ่มเติมโดยผู้เขียน – การแข่งขัน DARPA Robotics Challenge ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หุ่นยนต์ช่วยในภารกิจด้านการตอบสนองต่อภัยพิบัติ และวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีคำถามถามขึ้นมาว่า ชาติที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างญี่ปุ่น เหตุใดถึงไม่มีหุ่นยนต์พร้อมสำหรับงานลักษณะนี้ และต้องได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก มาวันนี้ SCHAFT สามารถนำญี่ปุ่นกลับมาผงาดในเวทีหุ่นยนต์โลกได้แล้ว

การแข่งขันครั้งต่อไป

ยังไม่มีประกาศออกมาถึงสถานที่และวันจัดการแข่งขันที่จัดในปีหน้า แต่การแข่งขันในปีหน้าจะยากขึ้นแน่นอน จะมีการรวมหลายภารกิจเข้าเป็นภารกิจใหญ่ หุ่นยนต์จะต้องเป็นอัตโนมัติมากขึ้น

การแข่งขันครั้งน่าจะสนุกขนาดไหนก็คงต้องตามลุ้นกันต่อไป

ภาพ

ที่มา

LINE it!