ยุครุ่งเรืองของหุ่นยนต์ : ผู้อพยพจากอนาคต

new-role-technology

*** บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 8 บทความจาก นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไม่นานมานี้ DARPA ได้จัดการแข่งขัน DARPA Robotics Challenge (DRC) ขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย สาเหตุที่ DARPA จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ขึ้น เพราะมองเห็นว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์กำลังอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำให้เครื่องจักรต่าง ๆ รับรู้สภาพแวดล้อม วิเคราะห์ และกระทำตอบสนองไปยังโลกที่สัมผัสได้ ทำให้หุ่นยนต์น่าหลงไหลอย่างมาก Takashi Kato จากทีม SCHAFT (ทีมที่ชนะ DRC) กล่าวว่า SCHAFT ไม่ได้ทำหุ่นยนต์เพราะอยากรวย แต่เพราะพวกเขาไม่อยากทำอย่างอื่นเลยนอกจากหุ่นยนต์

ความน่าหลงไหลในหุ่นยนต์ทำให้มีการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ออกมาหลากหลายหน้าตา แต่สุดท้าย หุ่นยนต์ที่ทำเงินได้ หน้าตากลับมีผลน้อยกว่าความสามารถ เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เป็นแขนเหล็กขนาดใหญ่ หุ่นยนต์ผ่าตัดที่มีแขนหลายแขน หรือหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เป็นทรงกระบอกแบน ๆ ในขณะที่หุ่นยนต์ส่วนมากใน DRC มันมีรูปร่างคล้ายมนุษย์เนื่องจากต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ออกแบบมาเพื่อมนุษย์ เช่น บันได ประตู ลูกบิด เป็นต้น ซึ่งคล้ายกับที่นิยายวิทยาศาสตร์เคยจินตนาการไว้ และหุ่นยนต์ในจินตนาการของนิยายวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็จะตีกรอบความคาดหวังในตัวเทคโนโลยีหุ่นยนต์และผลักดันให้เป็นจริงในซักวัน

พล็อตเรื่องยอดนิยมอย่างหนึ่งในนิยายวิทยาศาสตร์คือหุ่นยนต์ทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ Isaac Asimov กลับพลักดันนิยายวิทยาศาสตร์ไปในทิศทางตรงกันข้าม ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะถูกสร้างขึ้น Isaac Asimov ก็มีความคิดแล้วว่าหุ่นยนต์จะต้องถูกโปรแกรมได้ และจะทำตามที่มันถูกโปรแกรมมาเท่านั้น แต่มนุษย์เองต่างหากที่จะไม่ยินดีกับการที่หุ่นยนต์ทำงานตามที่คาดเดาได้ และความขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่หุ่นยนต์ถูกโปรแกรมและสิ่งที่มนุษย์คาดหวังก็กลายเป็นพล็อตเรื่องที่เข้มข้น

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการหุ่นยนต์รู้กันดีว่า ถึงแม้หุ่นยนต์จะถูกสร้างตามกรอบความคิดของนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริง หุ่นยนต์นั่นโง่ยิ่งนัก Scott Hassan ผู้ก่อตั้ง Willow Garage กล่าวว่า หุ่นยนต์นั้นโง่กว่าตะปูอีก คำพูดนี้อาจจะเกินไปหน่อย แต่ในความเป็นจริงหุ่นยนต์ก็ฉลาดเท่ากับแมลงแค่นั้น ถึงแม้หุ่นยนต์จะเก่งในด้านการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง แต่ความรู้พื้นฐานของหุ่นยนต์นั้นต่ำมาก หุ่นยนต์มีความยากลำบากในการรับรู้ว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นเป็นอะไร การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต้องคิดวิเคราะห์การเคลื่อนไหวอย่างละเอียด แค่จะทำให้หุ่นยนต์เดินได้ก็ต้องใช้เงินวิจัยหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ฯ กับเวลาหลายทศวรรษ หุ่นยนต์ที่ทำงานประสบความสำเร็จในการแข่งขัน DRC ไม่ใช่เพราะมันฉลาด แต่เบื้องหลังมีทีมผู้ควบคุมหุ่นยนต์คอยกำกับว่าให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่อย่างไร

ก่อนหน้าการแข่งขัน Robotics Challenge DARPA เคยจัด DARPA Grand Challenge การแข่งขันรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ 240 กิโลเมตรข้ามทะเลทราย ในปี พ.ศ. 2547 ไม่มีทีมใดเลยที่ขับเคลื่อนได้เกิน 1 ใน 20 ของระยะทาง การแข่งขันครั้งที่ 2 ในปีถัดมา การพัฒนาที่ก้าวกระโดดทำให้มีทีมเข้าเส้นชัยได้ถึง 5 ทีม และภายหลัง Google ก็กลายเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับต่อยอดจากทีมที่ชนะในการแข่งขันครั้งที่ 2 ถ้าการพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติจะรวดเร็วก้าวกระโดดในสภาพแวดล้อมของถนน ทำไมเทคโนโลยีอัตโนมัติจะรวดเร็วก้าวกระโดดในหุ่นยนต์สำหรับงานบ้าน งานดูแลผู้สูงอายุ หรือห้างสรรพสินค้าไม่ได้ และเมื่อ Google ได้ซื้อบริษัทหุ่นยนต์ 8 บริษัท ซึ่งมี SCHAFT และ Boston Dynamics ผู้พัฒนาหุ่นยนต์เข้าร่วม DRC ด้วย ก็ดูเหมือนว่าเหตุการณ์คล้าย ๆ กันน่าจะเกิดขึ้น

กรณีของหุ่นยนต์ อาจจะไม่พัฒนาได้เร็วเท่ารถไร้คนขับ เพราะยังมีโจทย์อีกหลายอย่างที่ต้องแก้ให้ได้ แต่หุ่นยนต์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ๆ จึงจะได้หุ่นยนต์ที่เป็นประโยชน์ หุ่นยนต์ที่เป็นประโยชน์ไม่จำเป็นต้องฉลาด เก่ง และทำทุกอย่างได้เองอัตโนมัติ เพราะสุดท้ายแล้ว เราไม่ได้ต้องการหุ่นยนต์ที่มาแทนมนุษย์ แต่เราต้องการหุ่นยนต์ที่มาเป็นส่วนเสริม ช่วยกันทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยเหลือกันในสิ่งที่อีกฝ่ายทำไม่ได้ ทำงานอัตโนมัติได้ระดับหนึ่งให้เพียงพอเหมาะสมกับงานก็พอ

ภาพ The Economist : Rise of the Robots – New roles for technology
ที่มา The Economist : Rise of the Robots – Immigrants from the future

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...