บินส่งของด้วยโดรนแค่ 32 สตางค์ต่อกิโลเมตร

drone_deliver

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Amazon.com สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการเผยบริการส่งสินค้าใน 30 นาทีด้วยโดรน วิดีโอ “Amazon Prime Air” ที่ถูกอัปโหลดเข้า YouTube มีคนเข้าไปดูแล้วกว่า 14 ล้านครั้ง คำถามคือการใช้โดรนส่งของเรื่องเพ้อฝันหรือเป็นจริงได้

ในวารสารวิชาการ Automation Science and Engineering ของ IEEE ฉบับที่ 11 ที่เพิ่งออกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิจัยชื่อดังอย่าง Raffaello D’Andrea เขียนลงในบทบรรณาธิการเล่าถึงความเป็นไปได้ในการส่งของโดยใช้โดรน

Andrea เล่าว่าหลังจากที่เขาย้ายไป ETH Zurich เมื่อปลายปี ค.ศ. 2007 ทีมของเขาสร้าง Flying Machine Arena และสร้างความฮือฮาด้วยการใช้ quadcopter ในการแสดงกายกรรม พอต้นปี ค.ศ. 2009 เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายติดต่อเข้ามาเพื่อให้ศีกษาความเป็นไปได้ในการส่งพิซซ่า เบอริโต และอาหารจานด่วน แม้กระทั่งส่งของให้กับนักปีนเขาบนเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์

แต่เขาเริ่มจริงจังกับเรื่องนี้เมื่อปลายปี ค.ศ. 2011 หลังพบกับ Andreas Raptopoulos ผู้ก่อตั้ง Matternet ซึ่งพยายามจะสร้างโครงข่ายเลียนแบบอินเทอร์เน็ตแต่แทนที่ข้อมูลด้วยวัตถุที่จับต้องได้ จุดที่แตกต่างจากคนอื่นคือ Andreas เข้าไปหาเขาด้วยการผูกระบบการบินกับ Kiva Systems (บริษัทหุ่นยนต์อีกบริษัทที่ Raffaello ร่วมกับ Mick Mountz และ Pete Wurman ร่วมตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003) สิ่งที่ Matternet ต้องการสร้างก็คือ Kiva Systems บนอากาศนั่นแหละ Raffaello บอกว่าบังเอิญจังเพราะหลังจากนั้นเขาก็ขายบริษัท Kiva ให้กับ Amazon ไปในปี ค.ศ. 2012 (ก็ไม่รู้สินะว่าบังเอิญหรือเปล่า เพราะเรื่องนี้อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ Amazon ซื้อ Kiva ก็เป็นได้)

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น Rafaello ก็ช่วย Andreas วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะนำโดรนไปส่งของเพื่อเป็นข้อมูลให้ Andreas ไปเล่าใน “Solve for X” และเป็นที่มาของบทความฉบับนี้

สมมติฐานของ Rafaello คือ

  1. ส่งของหนัก 2 กิโลกรัม (ตัวเครื่องบินอีก 4 กิโลกรัม)
  2. ระยะทำการ 10 กิโลเมตร ความเร็วลม 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สมมติฐานเพิ่มเติมอีกข้อของ Rafaello คือโดรนแบบนี้จะใช้แบตเตอรี่ โดยให้เหตุผลว่าแบตเตอรี่ถูกลงเรื่อย ๆ ยิ่ง Elon Musk ซีอีโอของ Tesla Motors ประกาศว่าจะสร้างโรงงานขนาดยักษ์เพื่อผลิตแบตเตอรี่โดยทำให้ราคาลดลงได้มากกว่า 30% ก็ยิ่งทำให้สมมติฐานนี้เป็นจริงยิ่งขึ้น

รายละเอียดของการคำนวณน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการคิดระบบความคุ้มของระบบอัตโนมัติเพื่อดึงดูดลูกค้า ใครสนใจรายละเอียดสามารถดูวิธีการได้จากบทความ

ข้อสรุปคือได้ราคา 0.8 เซนต์ต่อกิโลเมตรต่อน้ำหนักของ 2 กิโลกรัม เมื่อรวมกับค่าพลังงานของแบตเตอร์รี่ก็ได้ตัวเลขประมาณ 1 เซนต์ต่อกิโลเมตรต่อน้ำหนักของ 2 กิโลกรัมเท่านั้น (ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันตกราว 32 สตางค์ต่อกิโลเมตร) แน่นอนว่าราคานี้ถูกกว่าค่าส่งไปรษณียบัตรในสหรัฐอีก (ปัจจุบันอยู่ที่ 34 เซนต์ต่อฉบับ)

แน่นอนว่าราคานี้ถูกมากส่วนหนึ่งเพราะว่าค่าไฟฟ้าในสหรัฐนั้นถูก แต่ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการตาลุกวาวได้บ้าง

ทีนี้อะไรยังเป็นความท้าทายให้กับโดรนส่งของ Rafaello ฝากไว้ 3 เรื่อง

  1. การออกแบบยานยนต์จะต้องทำให้มีประสิทธิภาพ บินได้ในสภาวะอากาศที่หลายหลาย ให้น่าวางใจระดับสายการบิน ซึ่งยังต้องพัฒนาอีกสักพัก
  2. การระบุพิกัดและการนำทางในระดับที่สามารถส่งของโดยใช้เซนเซอร์ราคาถูกยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม
  3. โดรนยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมเรื่องการสื่อสารกันเองในอากาศ เพราะนอกจากต้องใช้ที่อากาศร่วมกันแล้วอาจจะต้องใช้ทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ระบบชาร์จไฟฟ้าร่วมกันด้วย

นอกจากนั้นแล้วก็คงจะติดเรื่องทางสังคม เช่น การตอบรับจากผู้คน ความเป็นส่วนตัว และ เรื่องทางกฎหมาย

ที่มา

D’Andrea, R. “Guest Editorial Can Drones Deliver?.” Automation Science and Engineering, IEEE Transactions on 11, no. 3 (2014): 647-648.

รูป

TED, Joshua Dalsimer

 

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...