คลื่นลูกที่สองของหุ่นยนต์ที่มีบทบาทในทางสังคม

robot-and-frank

นอกจากแขนกลหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (industrial robot) ที่เราเห็นกันมากมายแล้ว ยังมีหุ่นยนต์อีกประเภทที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ หุ่นยนต์บริการ (service robot) อธิบายง่าย ๆ คือหุ่นยนต์อะไรก็ได้ที่ไม่ได้ทำงานผลิตในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ของเล่น เป็นต้น หนึ่งในประเภทย่อย ๆ ของหุ่นยนต์บริการที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้คือ หุ่นยนต์ที่มีบทบาทในทางสังคม (social robot แปลโดยผู้เขียน คิดว่ายังไม่มีบัญญัติเป็นคำไทย และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก) ซึ่งมีหน้าที่หลัก ๆ คือ สื่อสารกับมนุษย์ตามบทบาทที่ถูกโปรแกรมมาผ่านทางองค์ประกอบทางกายภาพของหุ่นยนต์ เช่น เสียงพูด การสบตา การสัมผัส (ถ้าเป็นแค่ซอฟท์แวร์ที่ตอบโต้ได้ เช่น Siri ไม่นับเป็นหุ่นยนต์)

ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี หุ่นยนต์ที่มีบทบาทในทางสังคมยุคแรกจึงไม่ได้มีความสามารถมากมาย มักทำตัวเป็นสัตว์เลี้ยง สื่อสารกับมนุษย์เพื่อสร้างความผูกพันธ์ทางอารมณ์ จึงมีหน้าที่เป็นเพื่อนเล่น หรือใช้รักษาอาการป่วยบางประเภท ตัวอย่างเช่น Furby, AIBOKeepon, Paro, iDog, Pleo เป็นต้น

jibo

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น หุ่นยนต์ที่มีบทบาทในทางสังคมยุคที่สองซึ่งมีความสามารถมากขึ้นจึงเกิดขึ้น ด้วยเทคโนโลยีด้านการรู้จำเสียง (voice recognition), การประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ทำให้หุ่นยนต์สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้แบบ 2 ทาง (รับรู้ และตอบโต้) ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ได้อย่างจริงจังมากขึ้น (หุ่นยนต์ที่มีบทบาทเชิงสังคมในยุคแรกไม่เข้าใจว่าเราสื่อสารอะไรกับมัน มันแค่ตอบโต้ตามโปรแกรมว่าถ้าเซนเซอร์ถูกกระตุ้นแบบไหนให้ทำอะไร) เช่น เป็นผู้ช่วยในการเรียนหนังสือ ผู้ช่วยด้านการดูแลสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น หุ่นยนต์ที่มีบทบาทเชิงสังคมที่กำลังจะวางตลาดในตอนนี้ เช่น Jibo หุ่นยนต์ผู้ช่วยตั้งบนโต๊ะ ช่วยจัดการตารางนัดหมาย โทรจองร้านอาหาร ถ่ายรูป เป็นต้น นำทีมพัฒนาโดย Cynthia Breazeal ผู้บุกเบิกวงการหุ่นยนต์เชิงสังคมจาก MIT, Pepper หุ่นยนต์เพื่อนในบ้าน สามารถรับรู้อารมณ์ของเจ้าของได้ ช่วยให้กำลังใจเวลาเศร้าได้ พัฒนาโดย Aldebaran Robotics ซึ่งเดิมเน้นพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการศึกษาและงานวิจัย หลังจากที่ถูกเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่โดย Softbank ก็เริ่มบุกตลาดหุ่นยนต์ในบ้านอย่างจริงจัง

pepper

น่าติดตามกันมากทีเดียวว่าหุ่นยนต์ที่จะมาอยู่เคียงข้างมนุษย์จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร เร็วแค่ไหน และจะไปได้ไกลขนาดไหน

ภาพ Collider – Robot and FrankAldebaran Robotics – Pepper, Indiegogo – Jibo
ที่มา Robohub

LINE it!