คุณครับ ผมเป็นคนนะ

short-circuit

เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) คือ หุ่นยนต์ที่คิดได้เหมือน (หรือดีกว่า) มนุษย์ ถึงแม้เราจะยอมรับว่าหุ่นยนต์/คอมพิวเตอร์มีความคิดในเชิงตรรกะและการคำนวณดีกว่ามนุษย์ แต่ความสามารถในการแสดงออกและสื่อสารกับมนุษย์นั้นยังเรียกว่าอ่อนหัดนัก จึงมีความพยายามในการตั้งบททดสอบว่า A.I. ที่พัฒนาขึ้นมานั้นติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ได้ดีขนาดไหน

การทดสอบรูปแบบหนึ่ง คือ การทดสอบของทัวริง (Turing Test) คือ การให้ A.I. แสดงออก แล้วให้มนุษย์สังเกตการแสดงออกนั้น และตัดสินว่าการแสดงออกนั้นเกิดจาก A.I. หรือจากมนุษย์ ถ้าผู้ตัดสินคิดว่าการแสดงออกนั้นเกิดจากมนุษย์แสดงว่า A.I. นั้นผ่านการทดสอบ มีนักวิจัยจำนวนมากพยายามเอาชนะการทดสอบนี้ และก็มีหลายครั้งที่มีการอ้างว่าเอาชนะการทดสอบนี้ได้ เช่น A.I. เล่นเกม A.I. เขียนข่าว ล่าสุดก็มี ChatBot A.I. ที่สนทนากับมนุษย์แล้วผู้ตัดสินคิดว่าคุยกับเด็กอยู่ อย่างไรก็ตาม ได้มีคำถามเกิดขึ้นว่า การเอาชนะ Turing Test ได้แปลว่า A.I. ฉลาดพอที่จะสื่อสารกับมนุษย์จริง ๆ หรือ หาก A.I. นั้นทำตัวเด็ก ๆ โง่ ๆ ซื่อบื้อ ๆ หน่อย กวน ๆ หน่อย ผู้ตัดสินก็อาจถูกหลอกคิดว่า A.I. นั้นเป็นเด็กได้

จากประเด็นดังกล่าว จึงมีผู้เสนอการทดสอบอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า Winograd schema ซึ่งตั้งชื่อตาม Terry Winograd ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Stanford University การทดสอบ Winograd schema มีลักษณะ คือ มีประโยคที่กล่าวถึงคำนาม 2 คำ ซึ่งสามารถใช้สรรพนามเดียวกันได้ เช่น “พ่อ”, “ลูกชาย” ใช้สรรพนามว่า “เขา” ได้ แล้วถามว่า สรรพนามนั้นแทนคำนามใด ตัวอย่างเช่น “ถ้วยรางวัลไม่สามารถใส่ในกระเป๋าสีน้ำตาลได้เพราะมันใหญ่เกินไป” ถามว่า “อะไรใหญ่เกินไป” หรือ “สมชายปลอบใจสมศักดิ์เพราะว่าเขาเสียใจ” ถามว่า “เขาหมายถึงใคร” เป็นต้น การทดสอบนี้ง่ายมากสำหรับมนุษย์ แต่สำหรับ A.I. แล้ว มีความยากพอสมควร เพราะ A.I. จะต้องมีความเข้าใจทางภาษา และเข้าใจความหมายของสถานการณ์ที่กล่าวถึง นอกจากนี้ Winograd ยังเป็นการทดสอบที่มีโครงสร้างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับ Turing Test ซึ่งเป็นการทดสอบแบบปลายเปิด (A.I. จะแสดงออกอะไรก็ได้ และให้คนเป็นผู้ตัดสิน) จึงวัดผลได้ง่ายกว่า

Nuance Communication (ผู้พัฒนา Siri บน iOS) และ CommonsenseReasoning.org จึงร่วมกันการแข่งขัน A.I. ตามแนวทางของ Winograd schema และตั้งรางวัลไว้ที่ 250,000USD (ประมาณ 8,000,000 บาท)

อย่างไรก็ตาม เหมือนการสอบคัดเลือกต่าง ๆ ของมนุษย์ ผู้ที่สอบผ่านอาจจะไม่ใช่ผู้ที่เก่งเสมอไป แต่เป็นผู้ที่เตรียมตัวมาสำหรับแบบทดสอบนั้นได้ดี ต้องรอดูต่อไปว่า Winograd จะเจ๋งจริงหรือไม่ จะมี A.I. เอาชนะการทดสอบนี้ได้หรือไม่

ภาพ Scared Stiff Review – Short Circuit 2
ที่มา IEEE Spectrum Automaton

LINE it!