หุ่นยนต์จริงที่เก่งไม่แพ้ TARS จาก Interstellar

หลายคนน่าจะได้ดูภาพยนต์เรื่อง Interstellar มาแล้ว นอกจากภาพหลุมดำอันตระการตากับคำศัพท์วิทยาศาสตร์อันน่างุนงงแล้ว TARS หุ่นยนต์ผู้ช่วยในเรื่องก็เป็นที่ถูกพูดถึงไม่น้อย (ถึงขนาดที่ว่าหาก TARS เป็นดาราแล้ว โปสเตอร์ภาพยนต์จะออกมาเป็นอย่างไร) เรามาดูเบื้องหลังของ TARS กันเล็กน้อย และดูกันว่าเจ้า TARS นี่ล้ำยุคกว่าหุ่นยนต์ที่มีอยู่ปัจจุบันไปมากน้อยขนาดไหน มีโอกาสที่เราจะได้เห็นหุ่นยนต์แบบ TARS ในชีวิตจริงเร็ว ๆ นี้หรือไม่

tars-interstellar
TARS – Interstellar (2014) ภาพจาก http://gollumpus.blogspot.com/2014/11/movie-review-interstellar-2014.html

หลายคนคงคิดว่าด้วยภาพกราฟฟิกของอวกาศที่อลังการณ์แล้ว ภาพของเข้าหุ่นยนต์ TARS ก็คงถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเช่นกัน แต่ในความจริงแล้ว กว่า 80% ของฉากที่มี TARS อยู่ ถ่ายทำกับหุ่นยนต์หนักเกือบ 100 กิโลกรัมถึง 8 ตัวทีเดียว แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า TARS เนี่ยมีตัวตนจริง ๆ นะ 🙂

ทีนี้เรามาลองพิจารณาความสามารถบางอย่างที่เห็นจากในภาพยนต์กันว่า ในปัจจุบันมีหุ่นยนต์ตัวใดที่ทำได้แบบ TARS บ้าง

แปลงร่างได้

เราเห็นหุ่นยนต์แปลงร่างได้ใยภาพยนต์หลายเรื่อง เช่น Terminator, Transformer แต่การแปลงร่างในภาพยนต์เหล่านั้นดูจะล้ำเกินความจริงไปมากหน่อย เพราะแปลงร่างแล้วแทบไม่เหลือเค้าเดิมเลย แปลงได้ขนาดนั้นได้อย่างไร แต่เจ้า TARS นี่ยังพอแปลงแล้วเห็นเค้าเดิมอยู่เยอะ เช่น เดิน 2 ขา เป็นเดิน 3 ขา เป็นกลิ้งด้วยขา ยื่นแขนออกมาหยิบจับสิ่งของ มีงานวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์แปลงร่างได้อยู่มากมาย ส่วนมากมักจะใช้แนวทางของ modular robot คือ หุ่นยนต์ตัวหนึ่งประกอบจากหุ่นยนต์ตัวเล็ก ๆ ที่มีความสามารถจำกัด จำนวนมากประกอบขึ้นเป็นหุ่นยนต์ตัวใหญ่ ซึ่งหุ่นยนต์ตัวเล็กเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจับยึด เชื่อมต่อกันได้ ทำให้เกิดเป็นรูปทรงได้หลายแบบที่มีความสามารถแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ในวิดีโอ

นอกจากการแปลงร่างด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ยังมีหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้โดยอาศัยร่างกายที่อ่อนนุ่ม ยืดหดตัวได้ ดังเช่นงานวิจัยของ iRobot

หุ่นยนต์เดิน 3 ขา

โดยมากเราจะเห็นหุ่นยนต์เดินด้วยขาจำนวนคู่ เช่น 2, 4 หรือ 6 เป็นต้น แต่ TARS มีโหมดเดิน 3 ขา ซึ่งอาจจะแปลกตา แต่ก็มีหุ่นยนต์จริง ๆ ที่เดิน 3 ขา

tars-crutch-walk
TARS เดิน 3 ขา ภาพจาก http://www.wired.com/2014/11/interstellar-droids/

แบบแรกคือหุ่นยนต์ประเภท passive walker ถือว่าเดินคล้าย TARS มากที่สุดแล้ว เป็นหุ่นยนต์เดินเลียนแบบมนุษย์ คือ อาศัยการแกว่งขาและล้มไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อความง่าย หุ่นยนต์ประเภทนี้จึงทำออกมา 3 ขาแทน 2 ขา เพื่อให้ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มด้านข้าง

หุ่นยนต์เดิน 3 ขาอีกตัว คือ STriDER เป็นผลงานของห้องวิจัย RoMeLa ที่ Virginia Tech หุ่นยนต์ 3 ขาตัวนี้เดินด้วยการแกว่งขาและล้มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่มีรูปแบบการแกว่งขาที่แปลกไม่เหมือนใครเลยทีเดียว ถึงแม้จะไม่เหมือน TARS แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย

วิ่งด้วยล้อขา

นอกจาก TARS จะเดิน 2 ขา 3 ขาได้แล้ว หากต้องการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วก็ยังวิ่งด้วยล้อขา (wheel leg หรือ wheg) ได้อีกด้วย มีหุ่นยนต์หลายตัวที่เคลื่อนที่แบบนี้ได้ ข้อดีของ wheg คือ เคลื่อนที่ได้รวดเร็วและต่อเนื่องเหมือนล้อ แต่วิ่งบนพื้นขรุขระได้เหมือนขา

tars-wheg
TARS วิ่งด้วยล้อขา ภาพจาก http://www.europapress.es/cultura/critica-00656/noticia-interstellar-destellos-odisea-espacial-christopher-nolan-20141106113147.html

ตัวแรกคือ OutRunner เป็นหุ่นยนต์ wheg ที่วิ่งเร็วมาก และเคยระดมทุนใน KickStarter (แต่ไม่สำเร็จ)

อีกตัวคือที่จะแนะนำคือ IMPASS จาก RoMeLa อีกเช่นกัน ตัวนี้วิ่งไม่เร็ว แต่สามารถปรับความยาวขาได้ ทำให้ปีนป่ายสิ่งกีดขวางได้ดี

บังคับ joystick

นอกจาก TARS จะเคลื่อนที่ได้หลายท่าทางแล้ว ยังสามารถบังคับ joystick ได้ด้วย (ฉากที่ควบคุมการเชื่อมต่อของยานอวกาศกับสถานีอวกาศขณะหมุนอยู่) หุ่นยนต์จริงที่ทำได้ก็มีเช่นกัน เช่น PIBOT หุ่นยนต์ที่สามารถบังคับ joystick ควบคุมเครื่องบินได้

เล่นมุกตลก

ที่เรียกความสนใจได้ไม่น้อยคือความสามารถของ TARS ในการเล่นมุกตลกที่ช่วยลดความตึงเครียดของภาพยนต์ได้อย่างดี มีงานวิจัยไม่น้อยที่พยายามทำให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ในเชิงสังคมได้ดีขึ้น สื่อสารและเข้าใจมนุษย์มากขึ้น รวมถึงหุ่นยนต์ที่เล่าเรื่องตลกได้ Heather Knight เป็นนักวิจัยคนหนึ่งที่มีความสนใจในการประสานกันระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะได้พัฒนาหุ่นนยนต์ที่เล่าเรื่องตลกและดูการตอบสนองจากผู้ฟังเพื่อเลือกเรื่องตลกเรื่องต่อไปมาเล่า

จะเห็นได้ว่าความสามารถหลาย ๆ อย่างของ TARS นั้นไม่ได้เกินความสามารถที่หุ่นยนต์จริงเลย เหลือก็แค่เอาความสามารถทั้งหมดนั้นมายัดในหุ่นยนต์ตัวเดียว

LINE it!