ย้อนหลังดูงาน CES 2015 มีหุ่นยนต์อะไรบ้าง

ces-2015-unmanned-system

CES (Consumer Electronics Show) เป็นงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป จัดขึ้นทุกปีเพื่อให้ผู้ผลิตได้นำสินค้าใหม่ ๆ มานำเสนอให้ชาวโลกได้เห็น ถือเป็นงานที่บ่งบอกได้ดีว่าตอนนี้เหล่าบรรดาผู้ผลิตทั้งหลายกำลังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ประเภทไหนอยู่ ในปีหลัง ๆ ที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ทางผู้จัดงานก็ได้จัดพื้นที่สำหรับสินค้าประเภทเทคโนโลยีหุ่นยนต์โดยเฉพาะ CES 2015 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 6-9 มกราคมที่ผ่านมาก็มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปจัดแสดงมากมาย มาดูกันหน่อยว่าอะไรน่าสนใจ อะไรกำลังมาแรงบ้าง

ค่ายรถเข็นรถอัตโนมัติมาแสดงกันเพียบ

เริ่มด้วย Audi ส่ง A7 ชื่อ Jack วิ่งแบบอัตโนมัติจาก San Francisco มาร่วมงานที่ Las Vegas เป็นระยะทางเกือบ 900 กิโลเมตร

Mercedes-Benz ก็แสดง F 015 รถต้นแบบสุดหรูไร้คนขับ

ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า Mercedes ใช้หุ่นยนต์ในการถ่ายทอดงานเปิดตัวด้วย

BMW โชว์เทคโนโลยี Anti-Collision Technology ที่ใช้เลเซอร์สแกน 4 ตัวตรวจจับสิ่งกีดขวางรอบรถทั้ง 360 องศา ป้องกันการชนอย่างสมบูรณ์แบบ และเทคโนโลยี Remote Valet Parking Assistant ช่วยบังคับรถเข้าไปจอดในที่จอดรถได้อัตโนมัติ

โดรนบินว่อนทั่วงาน

อากาศยานไร้คนขับแบบมัลติโรเตอร์ยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก และเปลี่ยนจากของเล่นที่ใช้แค่บังคับบินเล่นไปมา เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง หน้าที่ที่ถูกนำไปใช้มากคือการถ่ายภาพกีฬาผาดโผนต่าง ๆ มีหลายบริษัทที่นำโดรนที่สามารถบินติดตามและคอยถ่ายภาพนักกีฬามีนำเสนอ เช่น Haxo+, AirDog เป็นต้น

โดรนถ่ายภาพตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือ Nixie เพราะนอกจากจะเป็นโดรนแล้ว ยังเป็น wearable device อีกด้วย สวมเป็นกำไลข้อมือ อยาก selfie เมื่อไหร่ก็โยนมันออกไป มันจะถ่ายรูปแล้วบินกลับมาหา Nixie เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน Make it wearable ของ Intel อีกด้วย

หากโดรนจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใคร ๆ ก็ซื้อไปใช้ได้ง่าย ๆ โดรนเองต้องใช้งานได้ง่าย คนที่ไม่มีประสบการณ์การบินก็สามารถบังคับได้ โจทย์หนึ่งที่ท้าทายการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง Asctec บริษัทที่พัฒนายานพาหนะไร้คนขับต่าง ๆ ได้สาธิตการใช้ Intel RealSense เซนเซอร์สแกน 3 มิติช่วยให้โดรนบินหลบสิ่งกีดขวางได้

นอกจากมัลติโรเตอร์ถ่ายภาพแล้ว ก็ยังมีโดรนแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น Bionic Bird หุ่นยนต์นกที่บินโดยการกระพือปีกแบบนก สามารถบังคับผ่านสมาร์ตโฟนได้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน indiegogo ตอนนี้ bionic bird เกือบพร้อมให้ซื้อไปเล่นที่บ้านกันได้แล้ว

หุ่นยนต์บริการพร้อมรับใช้ท่านแล้ว

Sereneti Cooki หุ่นยนต์พ่อครัวที่จะปรุงอาหารสดใหม่ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อผู้รับประทาน สั่งงานง่าย ๆ ผ่านสมาร์ตโฟน

Ecovacs ผู้ผลิตหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านหลากหลายรูปแบบขนหุ่นยนต์มาแสดงเพียบ ตั้งแต่ DeeBot หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้น WinBot หุ่นยนต์ทำความสะอาดหน้าต่าง RayBot หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ FamiBot หุ่นยนต์ดูแลบ้าน BeneBot หุ่นยนต์ผู้ช่วยในห้างสรรพสินค้า ช่วยพาลูกค้าไปยังจุดต่าง ๆ ในห้างได้

Furo-S จาก Future Robot หุ่นยนต์บริการที่คอยให้บริการข้อมูลตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามบิน ห้างสรรรพสินค้า เป็นต้น

ChihiraAico จาก Toshiba เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ เลียนแบบผู้หญิงอายุ 32 ปี ผู้ออกแบบมาใช้เป็นพนักงานต้อนรับ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

ของเล่นหุ่นยนต์ล้ำยุค

Meccanoid G15 KS ชุดของเล่นหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องใช้การโปรแกรม แต่สอนมันโดยการขยับจัดท่าทางของหุ่นยนต์ และผูกกับคำสั่งเสียงไว้ เมื่อพูดคำสั่งนั้น Meccanoid ก็จะทำตามทันที หรือจะทำท่าทางเป็นตัวอย่าง แล้ว Meccanoid จะขยับตามก็ได้ Meccanoid จะวางขายประมาณเดือนกันยายนด้วยราคาประมาณ 13,000 บาท

OzoBot หุ่นยนต์ตัวเล็ก ๆ ที่เดินตามเส้นที่ลากด้วยปากกา หรือเส้นบนหน้าจอแทบเล็ตก็ได้ เคยมาแสดงปีที่แล้วก็มาแสดงอีก

ชุดของเล่นหุ่นยนต์เพื่อการศึกษาก็มีมาแสดงหลายชุด เช่น Cubelete หุ่นยนต์ประกอบได้แบบ modular robot, RoboBlock และ Dash and Dot

เครื่องพิมพ์สามมิติเริ่มแข่งกันที่ความสามารถพิเศษ

เครื่องพิมพ์สามมิติได้รับความนิยมอย่างมากจนมีผู้ผลิตจำนวนมาก ความละเอียดของการพิมพ์เริ่มไม่ใช่จุดขายแล้ว ผู้ผลิตหลายรายเริ่มหาความสามารถพิเศษอื่น ๆ มานำเสนอ เช่น MakerBot ได้เปิดตัวเส้นพลาสติกที่ผสมโลหะ ไม้ หินปูน เป็นต้น เพื่อให้งานที่พิมพ์ออกมามีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

เส้นใยแบบต่าง ๆ ของ MakerBot (ภาพจาก http://www.makerbot.com/blog/2015/01/06/makerbot-ces-2015-growing-makerbot-ecosystem/)
เส้นใยแบบต่าง ๆ ของ MakerBot (ภาพจาก http://www.makerbot.com/blog/2015/01/06/makerbot-ces-2015-growing-makerbot-ecosystem/)

ส่วน MarkForged ก็นำเสนอเครื่องพิมพ์สามมิติที่พิมพ์คาร์บอนไฟเบอร์เพื่อเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างได้ด้วย

นอกจากจะพิมพ์ชิ้นงานที่เป็นชิ้นส่วนทางกลได้แล้ว เครื่องพิมพ์สามมิติหลายรุ่นก็เริ่มพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย เช่น Voxel 8

หุ่นยนต์อื่น ๆ

ยังมีหุ่นยนต์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ชุดแมงมุมที่พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์สามมิติ ใช้กำลังประมวลผลจากชิป Intel Edison ติดตั้งเซนเซอร์และมอเตอร์ หากมีสิ่งใดจะมารุกรานผู้สวมใส่ ขาแมงมุมจะยื่นออกไปปกป้องเอง

Empire Robotics บริษัทที่สปินออฟจาก Cornell University ที่เคยทำวิจัยด้านมือจับ (gripper) ทรงกลมที่จับของได้สารพัดอย่างร่วมกับ iRobot (หลายคนชอบเรียกว่ามือโดเรมอน) นำผลิตภัณฑ์ของตนมาสาธิตด้วย

Open Bionic อีกหนึ่งทีมจากการแข่งขัน Intel Make it wearable ได้สาธิตมือเทียมราคาเข้าถึงได้ สร้างโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

ZUtA เมื่อเครื่องพิมพ์ (printer) รวมร่างกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (mobile robot) เลยได้เครื่องพิมพ์ขนาดจิ๋วติดล้อ พกพาสะดวก

นี่แค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หุ่นยนต์มากมายเลยทีเดียว อยากมีโอกาสไปเดินงานด้วยตัวเองจริง ๆ เลยครับ

ภาพ DRONES.nl, MakerBot

ที่มา

LINE it!