ร่างกฎหมายควบคุมโดรนสหรัฐ ฯ ดับฝันโดรนส่งสินค้า

amazon-prime-air-sad

เป็นที่กังวลกันในบรรดาผู้เล่นหรือผู้ใช้งานอากาศยานไร้นักบินว่ากฎหมายควบคุมการบินของสหรัฐ ฯ จะออกมาควบคุมการใช้งานอากาศยานไร้นักบินมากขนาดไหน จะมีผลกระทบอะไรต่ออุตสาหกรรมอากาศยานไร้นักบินบ้าง ตอนนี้องค์การบริหารการบินสหรัฐ (FAA) ได้ร่างกฎหมายนั้นออกมาแล้ว ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

สำหรับอากาศยานไร้นักบินที่หนักน้อยกว่า 25 กิโลกรัม จัดอยู่ในกลุ่ม small Unmanned Aerial System (sUAS) ซึ่งโดรนที่ใช้ในงานสำรวจ ถ่ายภาพทางอากาศ จะตกอยู่ในกลุ่มนี้ มีข้อบังคับคร่าว ๆ ดังนี้

  • อากาศยานต้องอยู่ในสายตา (Visual Line-Of-Sight – VLOS) ของผู้ควบคุมหรือผู้สังเกตการณ์ (Visual Observer – VO) โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วย เช่น กล้องส่องทางไกล (ยกเว้นแว่นสายตา อนุญาตให้ใช้ได้)
  • การบินโดยอาศัยภาพจากอากาศยาน (First-Person View – FPV) เท่านั้นไม่เพียงพอ
  • ห้ามบินเหนือบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน
  • ให้บินเวลากลางวันเท่านั้น
  • ต้องให้ทางกับอากาศยานลำอื่น ๆ ทั้งที่มีนักบินและไร้นักบิน
  • จำกัดความเร็วที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • จำกัดความสูงที่ 150 เมตรเหนือพื้น
  • ทัศนวิสัยขณะบินต้องไม่ตำกว่า 4.8 กิโลเมตรจากที่ควบคุม
  • ห้ามบินเข้าพื้นที่ Class A (5.5 กิโลเมตรขึ้นไป)
  • การบินเข้าพื้นที่ Class B, C, D, E ต้องได้รับอนุญาตจากหอควบคุมการบิน (Air Traffic Control – ATC) ก่อน
  • สามารถบินเข้าพื้นที่ Class G ได้
  • ผู้ควบคุมหรือผู้สังเกตการณ์ 1 คน สามารถดูแลอากาศยานได้ทีละ 1 ลำเท่านั้น
  • ห้ามทำการบินอย่างประมาท
  • ต้องทำการตรวจสอบสภาพเครื่องก่อนทำการบิน
  • ห้ามบินเมื่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่พร้อม

สำหรับอากาศยานไร้นักบินที่หนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม จัดอยู่ในกลุ่ม micro Unmanned Aerial System (mUAS) โดรนของเล่นทั้งหลายจัดอยู่ในกลุ่มนี้ FAA กำลังพิจารณาข้อบังคับอีกชุดหนึ่งที่ผ่อนปรนกว่าสำหรับกลุ่มนี้

ผู้ควบคุมจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานด้านการบินจากศูนย์สอบที่ได้รับอนุญาตจาก FAA และต้องสอบซ้ำทุก ๆ 24 เดือน
  • ได้รับอนุญาตจาก Transportation Security Administration
  • มีใบอนุญาตการบินอากาศยานไร้นักบิน ซึ่งสามารถทำครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดชีพ
  • อายุขึ้นต่ำ 17 ปี
  • เข้าพบ FAA หากถูกเรียกตรวจสอบ
  • รายงานอุบัติเหตุใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายใน 10 วัน
  • ตรวจสอบอากาศยานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนทำการบิน

ตัวอากาศยานต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ไม่จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานความสมควรเดินอากาศ (airworthiness) แต่ผู้ควบคุมต้องตรวจสอบให้อากาศยานอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนทำการบิน
  • ต้องขึ้นทะเบียนอากาศยาน
  • ต้องติดตราสัญลักษณ์ของอากศยานตามข้อบังคับ หรือติดให้ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ หากอากาศยานมีขนาดเล็ก

ในข้อบังคับไม่ได้ห้ามการบินอัตโนมัติ ตราบใดที่ผู้ควบคุมสามารถเข้าควบคุมเครื่องได้ และก็เหมือนกฎหมายทั่ว ๆ ไปที่หากทำผิดก็อาจจะไม่ถูกจับ/ปรับทันทีถ้าไม่ได้สร้างความเสียหายให้ใคร (เหมือนขับรถฝ่าไฟแดง ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่ไปชนใคร ก็ไม่โดนจับ แต่ถ้าชนก็เป็นเรื่อง) และกว่าข้อบังคับนี้จะถูกใช้ก็กินเวลาอีก 1-2 ปี ขณะนี้ข้อบังคับนี้อยู่ในช่วง 60 วันที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ ตัวข้อบังคับเต็ม ๆ อ่านได้ที่นี่

ถึงแม้ข้อบังคับจะไม่ได้ห้ามการบินส่งของ แต่การห้ามบินเกินสายตามองเห็นก็สร้างข้อจำกัดกับการใช้งานในลักษณะนี้มาก ใครจะเอาโดรนไปบินส่งของในระยะที่มองเห็น และการห้ามบินเหนือผู้คนก็ทำให้การบินในที่สาธารณะทำได้ยากมากในทางปฏิบัติ

อุตสาหกรรมอากาศยานไร้นักบินจะมีการตอบสนองอย่างไรกับข้อบังคับนี้ และสุดท้าย FAA จะผ่อนปรนลงขนาดไหนหรือไม่ แล้วประเทศไทยที่กำลังเริ่มควบคุมการใช้งานอากาศยานไร้นักบินจะนำข้อบังคับนี้มาประยุกต์ในประเทศไทยอย่างไรหรือไม่ ต้องคอยติดตามกันต่อไป

ภาพ ดัดแปลงจาก USA TODAY
ที่มา IEEE Spectrum Automaton

LINE it!