รถไร้คนขับเสี่ยงถูกโจมตีแบบ denial of service

lidar-fooled

LIDAR (Light Detection and Ranging) เป็นเซนเซอร์ที่ถูกใช้อย่างมากในรถไร้คนขับ ทำงานคล้าย RADAR (Radio Detection and Ranging) แต่เปลี่ยนจากการปล่อยคลื่นวิทยุเป็นปล่อยแสงออกไปกระทบวัตถุ สะท้อนกลับมาแล้วจับเวลาการเดินทางของแสง ทำให้ทราบระยะวัตถุที่ห่างออกไป รถไร้คนขับใช้ LIDAR ในการทำแผนที่รอบตัวว่ามีวัตถุอะไรอยู่รอบ ๆ บ้าง เพื่อทำการวางแผนการเคลื่อนที่ ถ้ารถทำแผนที่ผิดพลาด ก็ทำให้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติทำงานผิดพลาด

Jonathan Petit นักวิทยาศาสตร์ที่ Security Innovation บริษัทด้านความปลอดภัยของซอฟท์แวร์สามารถหลอกรถไร้คนขับให้คิดว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ใกล้เคียงทั้ง ๆ ที่ไม่มีจริง โดยเริ่มจากบันทึกสัญญาณแสงที่ถูกยิงออกมาจาก LIDAR จากนั้นก็ใช้เครื่องสร้างสัญญาณเลียนแบบ แล้วยิงแสงนั้นกลับเข้าไปที่ LIDAR ทำให้ LIDAR ได้สัญญาณสะท้อนกลับที่ผิด  แล้วคำนวณระยะทางของสิ่งกีดขวางผิด ทำให้รถมีแผนที่สิ่งกีดขวางที่ผิด ๆ

สาเหตุที่ LIDAR ถูกโจมตีง่ายเพราะใช้คลื่นแสงในย่านที่ใช้ได้ทั่วไป และไม่ได้มีการเข้ารหัสสัญญาณ ต่างจาก RADAR ที่ใช้คลื่นในย่านที่ต้องขออนุญาตเป็นการเฉพาะ ตรงนี้เป็นโจทย์ให้ผู้ผลิต LIDAR ต้องกลับไปทำการบ้านว่าจะป้องกันอย่างไร

การโจมตีลักษณะนี้คล้ายกับการทำ denial-of-service attack บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ คือการส่งข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์จำนวนมากเข้าไปในระบบ ทำให้ระบบต้องเสียทรัพยากรไปจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น และไม่สามารถจัดการกับข้อมูลดี ๆ ได้ การทดลองครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้นักพัฒนาเทคโนโลยีรถไร้คนขับทั้งหลายต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของระบบมากยิ่งขึ้น

ภาพ IEEE Spectrum
ที่มา IEEE Spectrum ผ่านทาง POPULAR SCIENCE

LINE it!