หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารตัวใหม่ Curiosity จาก NASA

Mars Science Laboratory, MSL มีชื่อเล่นว่า Curiosity กำลังจะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องจักรกลที่ใหญ่ และซับซ้อนมากที่สุดที่ไปเยือนดาวเคราะห์ดวงอื่น และมันกำลังจะถูกส่งไปยังดาวอังคารโดยจรวด ATLAS V ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

Curiosity มีน้ำหนักประมาณ 1 ตันและมีขนาดใหญ่กว่ารถมินิเล็กน้อย และจะสำรวจพื้นผิวดาวอังคารด้วยกล้องความละเอียดสูง วิเคราะห์ส่วนประกอบสารเคมีรอบบริเวณตัวหุ่น และค้นหาสื่งที่อาจบ่งชี้ได้ถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนดาวอังคาร ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน

นอกจากนี้มันยังมีแขนกลความยาว 1.8 เมตร ที่อัดแน่นไปด้วยเซนเซอร์มากมาย และสามารถที่จะเอื้อมลงไปตรวจสอบหินบนพื้นผิวดาวอังคาร เจาะมันเพื่อเก็บตัวอย่างและส่งมันเข้าไปในเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ที่อยู่ในตัวหุ่นเพื่อการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เคยใช้มาก่อนบนดาวอังคาร

ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ จะมุ่งไปที่การสำรวจหาความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร เราจะค้นหาสารเคมีอินทรีย์ และตรวจสอบว่าจุดที่ลงจอด หลุมอุกกาบาตเกล (Gale crater) มีความสามารถที่จะมี หรือเคยมี น้ำหรือสารอื่นๆ ที่สามารถเอื้อต่อการดำรงชีวิตได้หรือไม่

หลุมอุกกาบาตเกลกว้าง 160 กิโลเมตรประกอบไปด้วยชั้นหินซึ่งชั้นล่างสุดประกอบด้วยดินเหนียวและซัลเฟต ชั้นบนประกอบด้วยฝุ่นผงของดาวอังคาร คาดว่าบริเวณนี้จะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของดาวอังคารได้เป็นอย่างมาก

Curiosity จะใช้เวลาเดินทางแปดเดือนครึ่งเพื่อไปถึงดาวแดง และจะลงจอดบนพื้นผิวในเดือนสิงหาคม 2012 โดยการลงจอดแบบพิเศษ มันจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารด้วยความเร็วสูงถึง 1600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปล่อยร่มชูชีพและใช้จรวดเพื่อชะลอความเร็วจนลอยตัวอยู่เหนือพื้นผิว 180 เมตรและหย่อนหุ่นยนต์ลงมาโดยใช้ระบบเครน

หุ่นยนต์สำรวจนี้จะสำรวจพื้นผิวดาวอังคารเป็นเวลา 2 ปี เป็นอย่างน้อยและจะสามารถให้ข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้มาจากดาวอังคาร

“เราคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่” พีต ทีสซิงเกอร์ หัวหน้าผู้ควบคุมโครงการกล่าว

source http://www.wired.com/wiredscience/2011/11/mars-rover-launch/

LINE it!