ผลงานชื่อ Flight Assembled Architecture จากนักหุ่นยนต์ Raffaello D’Andrea และสถาปนิก Fabio Gramazio และ Matthias Kohler จาก ETH ซึ่งเป็นการใช้ฝูง quadrotor ประกอบแบบจำลองงานออกแบบอาคาร ได้ถูกจัดแสดงที่ฝรั่งเศส
ผลงานทางศาสตร์และศิลป์ชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือกันของ Raffaello D’Andrea ผู้เชี่ยวชาญด้านการประสานงานกันทำงานของหุ่นยนต์ (เคยพาทีม RoboCup Small-Sized Soocer ของ Cornell คว้าแชมป์มาแล้ว และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Kiva Systems ซึ่งพัฒนาฝูงหุ่นยนต์สำหรับในโกดัง) กับ Fabio Gramazio และ Matthias Kohler สถาปนิกจาก ETH Zurich ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้บุกเบิกการนำหุ่นยนต์และงานทางสถาปัตยกรรมมารวมกัน
ผลงานนี้เป็นการใช้ quadrotor พร้อมกัน 4 ลำในการช่วยกันหยิบก้อนโฟมกว่า 1,500 ก้อน มาวางต่อกันเป็นแบบจำลองอาคารสูงกว่า 6 เมตร โดยโฟมแต่ละก้อนจะถูกทากาวไว้ด้านล่าง เวลาวางโฟมจะได้เกาะกันอย่างถาวร ในการทำงาน เจ้า quadrotor ทั้งหมดจะทำการบิน หยิบ วางโดยอัตโนมัติ โดยอาศัยระบบ Vicon (ระบบกล้องจับภาพการเคลื่อนไหว) ที่ติดตั้งบนเพดานในการจับตำแหน่ง quadrotor แต่ละลำ และนำไปคำนวณแผนการบิน เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด quadrotor จะบินไปยังแท่นประจุไปอย่างอัตโนมัติและปล่อยให้ quadrotor ลำอื่นผลัดออกมาทำงานแทน ซึ่งระบบนี้สามารถทำความเร็วในการประกอบได้ถึง 100 ก้อนต่อชั่วโมง
ความท้าทายของงานนี้ มีหลายอย่างเช่น
- การหยิบ ปล่อยก้อนโฟม ทำอย่างไรให้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง เชื่อถือได้ และท่าในการจับโฟมจะต้องไม่รบกวนการบิน
- ส่วนผสมของกาวแปะโฟม ที่จะมีความเหนียวและระยะเวลาแข็งตัวที่เหมาะสม และความหนาของกาวต้องควบคุมได้ถูกต้อง (ความหนาของกาวผิดไป 0.5 มิลลิเมตร ที่การต่อกันขึ้นไป 60 ชั้น จะทำให้ความสูงพลาดไปถึง 3 เซนติเมตร)
- การควบคุมตำแหน่ง quadrotor อย่างแม่นยำ ยิ่งเวลาบินต่ำ แรงลมที่ปะทะพื้นที่จะให้การควบคุมทำได้ยาก และไม่แม่นยำ เทคนิคที่ทางทีมใช้คือ การบินลอยอยู่เหนือตำแหน่งวางโฟมให้สูงพอควร แล้วบินลงมาปล่อยและบินขึ้นไปคืนอย่างรวดเร็ว
แบบจำลองอาคารนี้ เป็นแบบจำลองของอาคารที่อยู่แบบเป็นโมดูลต่อๆ กัน ก้อนโฟมแต่ละก้อนเป็นตัวแทนหน่วยย่อยของอาคาร ซึ่งอาจจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือร้านค้า
ที่มา IEEE Spectrum Automaton
รูปจาก IEEE Spectrum Automaton


