รีวิว Real Steel : ศึกกําปั้นหุ่นเหล็กถล่มปฐพี ในแบบคนทำหุ่น (ตอนที่ 2)

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ที่ได้พูดถึงเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ที่มีอยู่ในหนังเรื่อง Real Steel ศึกกำปั้นหุ่นเหล็กถล่มปฐพี ไปแล้วจำนวนหนึ่ง คราวนี้เรามาพูดถึงเทคโนโลยีและประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่มีอยู่ในหนังเรื่องนี้กันต่อ

หุ่นยนต์ที่ทนแรงกระแทกได้สูง

เหล็กปะทะเหล็ก คงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราอยากให้หุ่นยนต์ หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าของเราประสบ โดนแบบนั้นต้องพังแน่นอนเลย ถ้าจะเอาหุ่นยนต์ไปต่อยมวยอย่างนั้นเราต้องสร้างหุ่นยนต์ที่มีความแข็งแรงมากๆ ใช้วัสดุที่ทนทาน โครงสร้างที่มั่นคง หรือไม่งั้นก็ต้องยอมงอแต่ไม่ยอมหัก แบบที่นักวิจัยหุ่นยนต์บางกลุ่มกำลังทำอยู่ นักวิจัยจาก DLR ได้พัฒนาแขนหุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์ คือ เกร็งกล้ามเนื้อเมื่อต้องการออกแรง และผ่อนกล้ามเนื้อเพื่อให้ผ่อนตามแรงกระแทกได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ IEEE Spectrum Automaton)

อีกกลุ่มหนึ่งจาก Biomimetic Millisystems Lab จาก University of California, Berkeley ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่โครงสร้างทำจากกระดาษพับขึ้นรูป ทำให้มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทำให้ทนทานมาก ตกจากตึกยังสามารถวิ่งต่อได้เลย

การเรียนรู้ของหุ่นยนต์ (machine learning)

ในหนังนั้น ทัก มาชิโดะกล่าวว่า Zeus สามารถเรียนรู้รูปแบบการต่อสู้ของคู่ต่อสู้ได้ ทำให้ตอบโต้และเอาชนะได้เสมอ การเรียนรู้ของหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร (machine learning) เป็นสาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ที่มีความสำคัญมากถ้าหากหุ่นยนต์จะมาอยู่ในโลกแห่งความจริงอันซับซ้อน ไม่ใช่แต่ในห้องทดลอง เพราะเราคงสอนหรือโปรแกรมทุกอย่างให้มันไม่ได้ จะต้องเรียนรู้ได้เอง ยกตัวอย่างงานวิจัยด้าน machine learning ให้ดูซักเล็กน้อย งานจาก Healthcare Robotics Lab ที่ Georgia Institute of Technology ที่โปรแกรมให้ PR2 เล่นเกมยามว่างโดยการพยายามหยิบของหน้าตาต่างๆ (เอ๊ะ แบบนี้ที่เค้าเรียกว่า play+learn = plearn เพลิน ใช่มั้ยนะ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ IEEE Spectrum Automaton)

การแข่งขันหุ่นยนต์

World Robot Boxing การแข่งขันหุ่นยนต์ในเรื่องเป็นกีฬาหุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่มาก สปอนเซอร์เยอะ คนดูแยะ มีการถ่ายทอดสด ในปัจจุบันยังไม่มีการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่ Dean Kamen (ผู้ประดิษฐ์ Segway) มีวิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นการแข่งขันหุ่นยนต์ยิ่งใหญ่เท่า Super Bowl เพราะเขาคิดว่าวิทยาศาสตร์นั้นสำคัญมากในการพัฒนาประเทศชาติ ผู้คนน่าจะให้ความสนใจเท่ากับการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ เขาจึงเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขัน FIRST ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่มากรายการหนึ่งในสหรัฐอเมริกา จัดขึ้นสำหรับนักเรียนมัธยมแข่งขัน โดยแต่ละทีมจะมีนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ หรือวิศวกรมาเป็นผู้ดูแลทีม นอกเหนือจาก FIRST แล้วก็มีการแข่งขันหุ่นยนต์มากมายหลายรายการในแต่ละปี แต่ก็เป็นที่รู้จักแต่ในกลุ่มนักประดิษฐ์ เช่น RoboCup เป็นการแข่งขันที่ผลักดันการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อย่างมาก เริ่มแรกจัดแข่งขันหุ่นยนต์โดยใช้ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาสากลมาเป็นโจทย์การแข่งขัน ปัจจุบันมีการแข่งขันอื่นที่ไม่ใช่ฟุตบอลด้วย เช่น หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์บริการในบ้าน, RoboGames เป็นงานแข่งหุ่นยนต์ที่ใหญ่มากงานหนึ่ง มีกีฬาหุ่นยนต์กว่า 50 ประเภท แต่เดิมไม่ค่อยมุ่งเน้นด้านปัญญาประดิษฐ์ในหุ่นยนต์ซักเท่าไหร่ เป็นหุ่นยนต์บังคับมือ หรือกลไกง่ายๆ เพื่อเลียนแบบกีฬาของมนุษย์ แต่หลังๆ เริ่มมีการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติมากขึ้น และมีการแข่งขันอื่นๆ อีกเยอะมากๆๆ การแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยก็เช่น  ABU Robocon ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และ อสมท เป็นสปอนเซอร์, Thailand Robot@Home เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์บริการในบ้าน, Thailand Humanoid Robot Soccer Championship เป็นการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ และอีกหลายรายการ หวังว่าในอนาคตผู้คนทั่วไปจะให้ความสนใจกับการแข่งขันหุ่นยนต์จนเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกีฬาได้

เด็ก 11 ปี โปรแกรมหุ่นยนต์

แมกซ์ อายุเพียงแค่ 11 ปี แต่สามารถโปรแกรมหุ่นยนต์ต่อยมวยได้ จะเก่งเกินไปรึเปล่า ก็ไม่แน่หรอก เดี๋ยวนี้การโปรแกรมหุ่นยนต์ก็มีระดับที่ง่ายๆ ผู้เริ่มต้นก็ทำได้ เช่น ชุดหุ่นยนต์ Lego Mindstorm ที่ให้ผู้พัฒนาต่อหุ่นยนต์และโปรแกรมได้แบบลากวาง หรือหุ่นยนต์ humanoid อย่าง Kondo และ Bioloid ก็มีซอฟท์แวร์ที่ใช้ควบคุมท่าทางของหุ่นยนต์ได้อย่างง่าย ดังนั้นแมกซ์ก็ไม่จำเป็นจะต้องฉลาดเป็นไอน์สไตน์ถึงจะโปรแกรมหุ่นยนต์ได้ (ขนาดเด็ก 14 ขวบยังเขียนเกมบนไอโฟน ที่มียอดดาวน์โหลดสูงกว่า Angry Birds ได้เลย)

ก่อนจะจบการรีวิว แถมอีก 2 วิดีโอเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่พยายามจะสู้กับคุณ ตั้งการ์ด!!

ปิดท้ายจริงๆ ด้วยคำพูดจากในหนัง

“You’ve been working with those robots for so long you’ve become one.” อย่าเพิ่งเป็นหุ่นยนต์ไปกันหมดนะค้าบ

ภาพจาก cut print review

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...