เด็กๆ อยากได้หุ่นยนต์แบบไหน

Latitude Research ร่วมมือกับ LEGO Learning Institute และ Australia’s Project Synthesis ทำการศึกษาว่าเด็กๆ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในชีวิตพวกเขายังไง โดยถามคำถามกับเด็กอายุ 8-12 ปี จำนวน 348 คนจากทวีปยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกา (ทำไมไม่มาศึกษาในเอเชียด้วยนะ) ว่า ถ้าหากว่าหุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาทั้งที่โรงเรียนและในที่อื่นๆ พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร ให้ตอบโดยการเขียนและวาดรูป มาดูกันว่าเด็กๆ อยากได้หุ่นยนต์แบบไหนกัน

การศึกษาก่อนหน้างานนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเด็กมักจะมองเทคโนโลยีในมุมมองว่ามันเป็นเพื่อนมนุษย์ที่คอยช่วยเหลือมากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในแบบที่ผู้ใหญ่มอง หุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโต้กับเด็กๆ ได้ จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้ศึกษาพัฒนาการของเด็ก การศึกษาเรื่องมุมมองของเด็กต่อหุ่นยนต์จึงเกิดขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่

หุ่นยนต์ที่ฉลาดและเป็นแบบอย่างสู่ความสำเร็จ

เด็กส่วนมากจินตนาการถึงหุ่นยนต์ที่ฉลาด มีความรู้ สามารถสื่อสารได้ดี และเป็นเพื่อนที่ดี ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เครื่องจักร เด็กๆ ชอบหุ่นยนต์เพราะความฉลาด และมีมุมมองในทางบวกกับ “เนิร์ด” ความฉลาดของหุ่นยนต์เป็นแรงบรรดาลใจให้เด็กๆ ทำการเรียนรู้

หุ่นยนต์ช่วยให้เด็กมีการเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง

เด็กๆ มองว่าหุ่นยนต์มีความอดทน ช่วยเหลือและส่งเสริมในการเรียนรู้ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกและมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความกลัวที่จะทำผิดพลาด ทำให้เด็กๆ กล้าลองผิดลองถูก

หุ่นยนต์ช่วยลบเส้นคั่นระหว่างการเล่นและการเรียน

หุ่นยนต์เป็นทั้งเพื่อนเล่นและเพื่อนเรียน ทำการเรียนรู้และการเล่นเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น หุ่นยนต์คิดเกมจากการบ้านคณิตศาสตร์ให้เด็กเล่น

หุ่นยนต์ช่วยแก้ปัญหาด้านการเรียน

ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ห้องเรียนรวมทำให้เด็กไม่อยากเรียนเมื่อรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น อุปกรณ์ที่ตอบโต้กับเด็กได้จะช่วยสร้างบทเรียนที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของเด็ก

นอกจากนี้ เด็กๆ จะให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งที่ตนเองเห็นว่ามีคุณค่า มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต ซึ่งปกติครูผู้สอนมักจะใช้การยกตัวอย่าง การสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถใช้หุ่นยนต์เข้าไปช่วยเสริมได้

ครูผู้สอน และผู้ปกครองมีเวลาและความอดทนจำกัด หุ่นยนต์สามารถช่วยเหลือการเรียนรู้ของเด็กได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง

ผลการศึกษาครั้งนี้เปิดมุมมองและช่องทางให้กับ

  • ผู้พัฒนาเทคโนโลยี – ในการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันกับมนุษย์
  • ผู้สร้างเนื้อหา – ในการสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ที่ให้เด็กเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการลงมือทำกิจกรรม
  • ผู้สอน – ในการใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้

เป็นการศึกษาที่น่าสนใจมากครับ ใครสนใจสามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่ และดูรูปที่เด็กๆ วาดได้ที่นี่

ที่มา Latitude ผ่านทาง Fast Co.EXIST ผ่านทาง IEEE Spectrum Automaton
ภาพจาก Latitude

LINE it!