“ข้าต้องออกเดิน เผชิญโลกกว้าง
ไม่มีปลายทาง ไม่มีจุดหมาย
ดอกไม้เบ่งบาน ละลานเรียงราย
เหลียวมองขวา ซ้าย แล้วข้ามถนน
…”
เสียงบทกวีดังขึ้นท่ามกลางความมืด จากนั้นแสงไฟค่อยๆ ส่องสว่าง แสดงให้เห็นถึงหญิงสาวในชุดดำกำลังเอ่ยบทกวี จากนั้นแสงไฟเผยให้เห็นหญิงสาวอีกคน บนเก้าอี้โยก ท่าทางอิดโรย
“ตอนเด็กๆ ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมพ่อต้องซื้อเธอมาให้ ถึงตอนนี้ฉันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ” หญิงสาวท่าทางอิดโรยกล่าว เป็นการยืนยันว่าหญิงสาวชุดดำนั่น เธอไม่ใช่คน แต่เป็นแอนดรอยด์ (android) ในอนาคตหุ่นยนต์ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติคงจะมีบทบาทในสังคมมนุษย์มากขึ้น อาจถูกใช้เป็นเพื่อน เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และมนุษย์เราคงจะสนิทใจในหุ่นยนต์เหล่านี้มากพอที่จะสนทนาเรื่องราวต่างๆ กับหุ่นยนต์ได้เท่า หรือมากกว่ากับมนุษย์ด้วยกันเอง
หญิงสาวขอให้แอนดรอยด์ท่องบทกวีบทอื่นให้ฟัง ถามถึงชื่อบทกวีและที่มา แน่นอนหละว่าหุ่นยนต์นั้นมีความสามารถด้านการจดจำสูงมากย่อมตอบได้อย่างไม่มีปัญหา
จากนั้นแอนดรอยด์ได้กล่าวถึงลูกค้าคนก่อน หญิงสาวจึงถามแอนดรอยด์ว่าชอบลูกค้าคนก่อนใช่หรือไม่ แอนดรอยด์ตอบกลับมาว่า “แอนดรอยด์ไม่สามารถชอบใครได้ แต่อยากทำประโยชน์ให้มากกว่า” จากนั้นบทสนทนาดำเนินต่อไปจนแอนดรอยด์กล่าวว่า แอนดรอยด์บางตัวถูกทำลายไป แต่ก็ยินดีที่จะถูกทำลาย หากนั่นทำให้เจ้าของรู้สึกดีขึ้น เพราะถือเป็นการทำประโยชน์ให้เจ้าของ นั่นเป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากหุ่นยนต์หรือไม่ หุ่นยนต์ได้แต่ทำตามคำสั่งที่ถูกสั่งมา โดยไม่มีความรู้สึก ไม่มีความอยาก ไม่มีความชอบ ถ้าหุ่นยนต์มีความรู้สึกจะดีรึเปล่า มันจะเข้าใจมนุษย์และทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ หรืออาจทำได้แย่ลงเพราะทำให้มีเรื่องต้องพะวงมากมาย
แอนดรอยด์ได้ท่องบทกวีอีกสองบทให้หญิงสาวฟัง บทหนึ่งเป็นบทกวีของชาวญี่ปุ่น กล่าวถึงการตามหาดินแดนที่ไม่มีความเหงา กับอีกบทหนึ่งของชาวเยอรมัน กล่าวถึงการตามหาดินแดนที่มีแต่ความสุข จากนั้นแอนดรอยด์กล่าวว่า “ตลกดีนะคะ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นตามหาดินแดนที่ไม่มีความเหงา ชาวเยอรมันกลับตามหาดินแดนที่มีแต่ความสุข” นั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะนั่นแสดงถึงว่าหุ่นยนต์สามารถสร้างประเด็นการสนทนาขึ้นมาได้เอง และรู้จักเปรียบเทียบการอธิบายเชิงคุณภาพ/บรรยาย (qualitative) ซึ่งน่าจะยากกว่าการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ (quantitative) เมื่อหญิงสาวถามแอนดรอยด์กลับว่าแอนดรอยด์เป็นแบบไหน “แบบที่จะทำให้ฉันหายเหงา หรือทำให้ฉันมีความสุข” แอนดรอยด์ตอบกลับว่า “แอนดรอยด์ตอบไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีความเหงา ก็จะมีความสุขไม่ใช่หรอคะ” ยิ่งตอกย้ำว่าหุ่นยนต์สามารถเข้าใจคำสองคำที่อธิบายสิ่งที่แตกต่างกันแต่มีความหมายในทางเดียวกัน (ไม่เหงา เท่ากับ มีความสุข) การเปรียบเทียบลักษณะนี้ทำได้ยากนักเมื่อเทียบกับการเปรียบเทียบในลักษณะ ไม่จริง เท่ากับ เท็จ หรือ 1+1 = 2 (ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่เหงา อาจจะไม่มีความสุขก็ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจทีเดียว)
สุดท้าย เมื่อหญิงสาวนอนหลับ แอนดรอยด์เอ่ยบทกวีอีกบท กล่าวถึงว่าตนเองเดินทางมาไกลมาก ไกลกว่าที่คนอื่นเคยไป เมื่อเดินทางต่อไปจะเป็นอย่างไรไม่รู้ อาจจะต้องเดินทางเพียงลำพัง ถ้าได้มีคนรักอยู่ข้างๆ คงจะดี ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะจากไปแล้วก็ตาม เหลือแค่ความทรงจำไว้ก็พอ เมื่อเดินทางไปก็ใกล้จะถึงทะเล และจะเดินทางไปให้ไกลกว่าทะเลนั้น แอนดรอยด์เอ่ยบทกวีนั้นขึ้นมาเองโดยไม่ได้เป็นการร้องขอจากหญิงสาว นั่นเป็นความนึกคิดขึ้นมาเองของแอนดรอยด์หรอ แล้วความหมายที่แอนดรอยด์จะสื่อคืออะไร จะสื่อถึง หญิงสาวนั้นได้เดินทางชีวิตมาไกลกว่าคนอื่นๆ เพราะใกล้ตายแล้ว ในขณะที่คนอื่นยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อถึงทะเล (ซึ่งน่าจะเปรียบได้กับความตาย เพราะเวลาลอยอังคารก็ลอยไปสู่ทะเล) ก็จะเดินทางไปไกลกว่าทะเลนั้น หมายถึงเดินทางไปสู่ชีวิตหลังความตายหรือไม่ หรือเป็นการกล่าวถึงตัวแอนดรอยด์เองที่เดินทางมาไกลกว่ามนุษย์ซึ่งจะต้องตาย แต่แอนดรอยด์ไม่มีวันตาย และเมื่อมนุษย์ที่เป็นลูกค้าตายจากไปก็รู้สึกเหงา อยากมีความทรงจำเกี่ยวกับลูกค้าเก็บไว้ และเดินทางต่อไปไกลกว่าทะเล คือ ไกลกว่าความตาย (เป็นการตีความของผมเอง)
นั่นคือเรื่องราวของ ซาโยนาระ ละครเวทีที่ใช้คนแสดงร่วมกับหุ่นยนต์ เป็นผลงานการกำกับของศาสตราจารย์ Oriza Hirata และใช้หุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์มากที่สุดในโลกตัวหนึ่งซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของศาสตราจารย์ Hiroshi Ishiguro นอกจากจะมีความน่าสนใจในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวล้ำ สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่รูปร่างหน้าตา และการเคลื่อนไหวใกลเคียงมนุษย์แล้ว ยังมีประเด็นให้ขบคิดในด้านสังคม การดำรงชีวิตร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ความนึกคิดของหุ่นยนต์ในประเด็นต่างๆ เปรียบเทียบกับความนึกคิดของคน ถือว่าเป็นการรวมกันของศาสตร์และศิลป์ที่น่าสนใจมากครับ โดยส่วนตัวแล้วชอบมากๆ (เคยดูแต่ละครเวทีแบบเอาสนุก หรือแบบเนื้อเรื่องตรงไปตรงมา ไม่ต้องขบคิด) ใครที่พลาดไปก็ช่วยกันลุ้นหน่อยนะครับ เพราะเนื่องจากว่าการแสดงนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จึงอาจนำมาแสดงให้ชมกันในสัปดาห์วิทยาศาสตร์อีกครับ
ขอขอบคุณ Japan Foundation, คณะละคร SEINENDAN, มหาวิทยาลัยโอซาก้า, คณะอักษรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำโอกาสดีๆ แบบนี้มาให้คนไทย (และตัวผม) ได้สัมผัส
ภาพโดย อนันต์ จันทรสูตร THE NATION


