เมื่อหุ่นยนต์สามารถคิดคำศัพท์เพื่อสื่อสารกันเรื่องเวลาได้

การสื่อสารเป็นความสามารถที่สำคัญอย่างหนึ่งในสัตว์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเรื่องสถานที่และเวลา เพราะมันคือมิติทั้งสี่ (x, y, z, t) ที่ใช้อธิบายความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ (เช่น นาย ก เกิดที่เมือง อะ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว หรือ นาย ก และนาย ข นัดกันไปพบที่สถานที่ อิ ในอีก 5 นาที) เมื่อปีที่แล้วนักวิจัยจาก University of Queensland (เห็นรึเปล่าว่าเป็นสถานที่และเวลาอีกแล้ว) ได้พัฒนาให้หุ่นยนต์สามารถคิดคำเพื่อสื่อถึงสถานที่ ทิศทาง ระยะทาง ปีนี้นักวิจัยกลุ่มเดิมได้ต่อยอดแนวคิดเดิมให้หุ่นยนต์สร้างคำที่สื่อถึงเวลาขึ้นมา

งานวิจัยในปีที่แล้วที่ให้หุ่นยนต์สร้างคำที่สื่อถึงสถานที่ ทำโดยการให้หุ่นยนต์สุ่มสร้างคำขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงสถานที่นั้น ๆ และบอกต่อไปยังหุ่นยนต์ตัวอื่นเมื่อเดินมาเจอกัน (คำเหล่านั้นเป็นคำที่พูดและเขียนได้ในภาษามนุษย์ ไม่ใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น คำว่า huzu แปลว่าทิศเหนือ puru แปลว่าไกล)

งานวิจัยในปีนี้ที่ให้หุ่นยนต์สร้างคำที่สื่อถึงเวลา ทำโดยการให้หุ่นยนต์เล่นเกม “เราเจอกันเมื่อไหร่” จากความรู้เรื่องคำที่ใช้ระบุสถานที่ ทำให้หุ่นยนต์สามารถนัดเจอกันในที่ต่าง ๆ ได้ จากนั้นหุ่นยนต์จะจับเวลาว่าจากการเจอกันครั้งที่แล้วถึงครั้งนี้เป็นระยะเวลาเท่าใด และสร้างคำเพื่อสื่อถึงระยะเวลานั้น เมื่อรวมความสามารถด้านการสื่อสารถึงสถานที่และเวลา ทำให้หุ่นยนต์สามารถนัดแนะการเจอกันได้อย่างแม่นยำ เช่น “ropi huzu jaya fohu” แปลว่า “ไปเจอกันที่ด้านเหนือขึ้นไปนิดหน่อยของ jaya ในอีก 35 วินาที” ความท้าทายต่อไปคือทำให้หุ่นยนต์สามารถสื่อถึงเวลาที่ไม่มีตัวตนจริง ๆ เช่น “เร็ว ๆ นี้” หรือ “ทีหลัง” และเวลาที่เป็นวงรอบ เช่น “ตอนเที่ยง”

งานวิจัยนี้ชื่อ Lingodroids: Learning Terms for Time โดย Scott Heath, Ruth Schulz, David Ball, และ Janet Wiles ถูกนำเสนอในงานประชุมวิชาการ ICRA 2012 ที่ผ่านมา ที่เซนต์พอล รัฐมินเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้ในเว็บของโครงการได้ครับ Lingodroids

ที่มา IEEE Spectrum Automaton
ภาพจาก IEEE Spectrum Automaton

LINE it!