เสวนาระหว่างนักธุรกิจและคนทำหุ่นยนต์ในหัวข้อ Awards? Then…

จากข่าวที่ Amazon ซื้อ Kiva Systems ด้วยราคาสูงถึง 775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Kiva Systems คือ อาจารย์ผู้คุมทีม RoboCup Small Size League จาก Cornell University ทำให้ ดร. วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ จาก InStep Group มีคำถามมายังกลุ่มผู้พัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทยว่า เยาวชนของเราไปแข่งขันหุ่นยนต์ชนะมามากมาย ทำไมเราจึงไม่มีธุรกิจหุ่นยนต์บ้าง พี่มดแดง จาก TESA (Thai Embedded Systems Association) จึงประสานงานให้กลุ่มผู้พัฒนาหุ่นยนต์ได้มาเสวนากันได้ ผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยด้วย จึงจะสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้ครับ

  • พี่อดิศักดิ์ ดวงแก้ว (ยิ้ม) ทีม Independent ขณะนี้ทำงานที่บริษัท CT Asia Robotics เล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอที่ใช้งานอยู่ในร้าน MK สุกี้ว่า การพัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (mobile robot) มีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องพลังงาน ซึ่งต้องใช้จากแบตเตอรี่ ทำให้ระยะเวลาทำงานจำกัดและต้องจัดการด้านการประจุไฟใหม่ด้วย การพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้หลากหลายจะต้องออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย นอกจากนี้สภาพแวดล้อมการทำงานที่หุ่นยนต์จะต้องเข้าไปทำงานก็อาจสร้างปัญหาเช่นกัน เช่น มีหนูไปกัดสายไฟในหุ่นยนต์
  • CHANG เคยทำงานด้านหุ่นยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น และขณะนี้เรียนปริญญาเอกที่ Keio University เล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านหุ่นยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า จริง ๆ แล้วทางญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากไปกว่าที่คนไทยทำได้
  • ดร. วิวัฒน์ กล่าวถึงความเชื่อผิด ๆ ที่คนไทยมักใช้ตอบคำถามที่ว่า ทำไมไม่มีการต่อยอดผลงานดี ๆ ทั้งหลาย ว่าเป็นเพราะรัฐไม่สนับสนุน จริง ๆ แล้วหน่วยงานภายใต้การดูแลของรัฐมีโครงการสนับสนุนภาคเอกชนในงานวิจัยและพัฒนาเยอะมาก หลายรูปแบบมาก ตัวอย่างหน่วยงานที่ทำการสนับสนุน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)
  • มีคนจำนวนมากที่มองว่าเราน่าจะได้อะไรจากการแข่งขันมากกว่าแค่รางวัล น่าจะมีการต่อยอดเป็นธุรกิจได้ ในขณะที่มุมมองจากอาจารย์ ผู้จัดการแข่งขัน ตัวเยาวชนเอง มองว่าการแข่งขันเป็นการสร้างบุคคลากร
  • มีข้อเสนอว่าถ้าเปลี่ยนโจทย์การแข่งขันเป็นโจทย์ที่ต่อยอดใช้งานได้จริงเลยจะเป็นประโยชน์กว่าโจทย์สมมุติหรือไม่ เช่น แข่งขันหุ่นยนต์ไถนา หุ่นยนต์กรีดยาง
    • หากมีการแข่งขันหุ่นยนต์ไถนา (ยกตัวอย่าง) ขึ้นจริง จะมีคนมาแข่งรึเปล่า ? น่าจะมี หากโจทย์การแข่งขันมีความท้าทาย และมีรางวัลมาล่อ
    • แต่เงินรางวัลมีจำกัด ย่อมมีทีมจำนวนมากที่ไม่ได้รางวัล จะมีคนลงทุนทำแข่งรึเปล่า ? น่าจะมี เพราะเด็กไทยส่วนมากทำเอาสนุก ทำด้วยความอยากทำส่วนตัว ซึ่งย่อมพอจะหาทุนมาทำแข่งได้
    • ควรจะมีการคัดเลือกทีมมาส่วนหนึ่งเพื่อให้งบประมาณสนับสนุนหรือไม่ หรือให้รางวัลใหญ่ตอนท้ายทีเดียวเลย ? ให้รางวัลตอนท้ายจะดีกว่า เพราะ มีเด็กส่วนหนึ่งที่หวังแค่เงินสนับสนุน ทำเพียงแค่ผ่านเงื่อนไข รับงบประมาณสนับสนุนและไม่ทำต่อจนผลงานเสร็จสมบูรณ์
    • ควรจะมีเกณฑ์การให้รางวัล หากทำไม่ได้ถึงเกณฑ์ก็ไม่มีใครได้รางวัล และเงินรางวัลจะทบต่อไปในปีหน้า
    • อาจจัดให้มีการแข่งขันรุ่น open คือ ไม่จำกัดแค่อุดมศึกษา แต่ให้บุคคลทั่วไป หรือนักเรียนมัธยมเข้าแข่งขันด้วยได้ เพราะสองกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพเช่นกัน
    • อาจจัดให้มี standard platform คือ หุ่นยนต์มาตรฐานสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถ หรืองบประมาณในการพัฒนาตัวหุ่นยนต์ แต่มีความสามารถในการพัฒนาซอฟท์แวร์ นำไปใช้แข่งขัน
  • สาเหตุหนึ่งที่ไม่มีธุรกิจหุ่นยนต์ไทย เพราะการแข่งขันส่วนมากเป็นการแข่งขันที่เน้นความสามารถเชิงเทคนิค ในขณะที่ธุรกิจเป็นมากกว่าแค่ประเด็นทางเทคนิค แต่ต้องมีความสามารถอื่น ๆ เช่น การตลาด ด้วย
  • น่าจะมีการจัดให้วิศวกรได้มาพบกับนักการตลาด เพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจกัน เกิดไอเดียเพื่อต่อยอดร่วมกัน อาจจัดในรูปแบบ Hackathon หรือ Startup Weekend
  • กลุ่มงานที่น่าจะมีความสำคัญในอนาคต ได้แก่ การเกษตร พลังงาน และสาธารณสุข ในด้านพลังงานอาจไม่ค่อยมีอะไรให้หุ่นยนต์ทำ งานสาธารณสุขก็ค่อนข้างละเอียดอ่อน อาจทำด้วยหุ่นยนต์ลำบาก งานด้านการเกษตรจึงน่าสนใจที่จะนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้
  • ในทางธุรกิจแล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาระบบที่สมูบรณ์ 100% เพื่อส่งเข้าสู่ตลาด สามารถพัฒนาระบบที่มีความสามารถ 30% แล้วหาผู้ที่เห็นคุณค่าของ 30% นั้นแล้วยอมซื้อไปใช้ บริษัทก็จะได้รายได้มาพัฒนาระบบนั้นต่อไปให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น
  • การรับพัฒนาระบบให้กับลูกค้าไม่เกิดผลดีในระยะยาวต่อบริษัทเพราะจะต้องพัฒนาระบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ และหลาย ๆ ครั้งจะประสบปัญหาว่าคนไม่พอ ต้องจ้างเพิ่ม จ้างเพิ่มก็ต้องหางานเพิ่มเพื่อให้มีเงินจ้าง งานเยอะก็คนไม่พอ เป็นวงรอบที่อันตราย นอกจากนี้ อาจจะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากจะทำ ดังนั้นอีกทางเลือกที่น่าจะดีกว่าคือสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเองแล้วนำไปปรับแต่งเพิ่มเติมให้ลูกค้าแต่ละราย และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต (เน้นว่าต่อยอด ไม่ใช่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่)

เป็นการพูดคุยกันกว่า 4 ชั่วโมงที่สนุกและเข้มข้น นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับวงการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มธุรกิจหุ่นยนต์ในไทยได้อย่างดีครับ ถ้ามีการพุดคุยกันครั้งหน้า จะมาประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจเข้าร่วมเสวนากันครับ

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...