เขาแข่งอะไรกันใน World RoboCup

ขอถือโอกาสในช่วงที่เยาวชนจากไทยไปร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการ World RoboCup 2012 ที่ประเทศเม็กซิโก มาเล่าให้ฟังว่า ไอ้ RoboCup เนี่ยคืออะไร เขาแข่งอะไรกันบ้าง

ชื่อ RoboCup ย่อมาจาก Robot Soccer World Cup เริ่มแข่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 (แต่มีการเตรียมการมาก่อนหน้านั้นหลายปี) จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ แต่จะทำยังไงล่ะ ผู้จัดการแข่งขันเลยใช้ฟุตบอล กีฬาสากลที่ใคร ๆ ก็รู้จักและชื่นชอบ มาเป็นโจทย์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) จะมีทีมหุ่นยนต์อัตโนมัติที่สามารถเตะฟุตบอลตามกฎของฟีฟ่าแข่งกับทีมแชมป์ฟุตบอลโลกที่เป็นมนุษย์ และจะชนะ การที่หุ่นยนต์อัตโนมัติจะเตะฟุตบอลแข่งกับมนุษย์ได้นั้นอาศัยความสามารถมากมายมหาศาลที่ทุกวันนี้หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ และเป็นโจทย์ให้นักวิจัยและพัฒนาแก้ปัญหากันต่อไป ปัญหาเหล่านี้มีตั้งแต่ กลไกของหุ่นยนต์จะต้องเป็นอย่างไร ควบคุมการเคลื่อนที่อย่างไร ใช้แหล่งพลังงานจากไหน หุ่นยนต์จะรับรู้ได้อย่างไรว่าลูกบอลอยู่ไหน เพื่อนร่วมทีมอยู่ไหน คู่แข่งอยู่ไหน ประตูอยู่ไหน เมื่อรู้แล้วจะวางแผนการเล่นอย่างไร การแข่งขันในปีแรก ๆ จึงยังไม่มีหุ่นยนต์ที่เดินสองขาคล้ายมนุษย์ลงแข่ง แต่ลดความยากของโจทย์ลง เช่น ใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ด้วยล้อ หรือ จำลองการแข่งขันในคอมพิวเตอร์ (simulation) หลังจากแข่งขันไปหลายปี เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ก็พัฒนาไปมากขึ้น โจทย์การแข่งขันก็จะค่อย ๆ ปรับให้ยากและท้าทายมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการเตะฟุตบอล และการแข่งขันก็ไม่ได้มีเพียงแค่ปีละครั้งในระดับโลก แต่มีการแข่งขันย่อย ๆ ตามแต่ละท้องถิ่น เช่น Japan Open, Iran Open เป็นต้น การแข่งขัน RoboCup ไม่ได้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อคว้ารางวัลชนะเลิศ เพราะไม่มีเงินรางวัลให้ แต่เหมือนเป็นการมาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมาประลองความสามารถหุ่นยนต์กันซะมากกว่า โจทย์การแข่งขันสามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละทีม ทำให้การแข่งขันดูสนุก และก็ไม่ใช่การแข่งขันที่จบแล้วจบเลย หลังจบการแข่งขันจะมีการประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์อีกด้วย

รายการแข่งขันใน World RoboCup ได้แก่

  • RoboCup Soccer แข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล แบ่งออกเป็นลีกย่อย ๆ ได้แก่
    • Small Size League (SSL) หุ่นยนต์ขนาดเล็ก  5 ตัว ใช้ลูกกอล์ฟเป็นลูกบอล ใช้กล้องติดตั้งเหนือสนามเพื่อจับตำแหน่งของหุ่นยนต์และลูกบอล อนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์นอกตัวหุ่นยนต์ในการคำนวณวางแผนต่าง ๆ และส่งสัญญาณไร้สายไปควบคุมหุ่นยนต์
Small Size League – http://pix.avaxnews.com/avaxnews/bc/48/000048bc_medium.jpeg
  • Middle Size League (MSL) หุ่นยนต์ขนาดกลาง 5 ตัว ใช้การมองเห็นและประมวลผลภายในหุ่นยนต์แต่ละตัว ใช้ลูกบอลหนังของจริง
Middle Size League – http://www.aroundtheinterwebs.com/wp-content/uploads/robocup02.jpg
    • Humanoid League หุ่นยนต์ 2 ขาคล้ายมนุษย์ สัดส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ต้องใกล้เคียงมนุษย์ เซนเซอร์ที่ใช้ต้องใกล้เคียงมนุษย์ (เช่น กล้องต้องอยู่บนหัว อยู่ที่ลำตัวไม่ได้ และห้ามมองเห็นเกิน 180 องศา) การประมวลผลทั้งหมดทำบนตัวหุ่นยนต์ แบ่งเป็นลีกย่อย ๆ ได้แก่
      • Kid Size หุ่นยนต์ขนาดเล็ก
      • Teen Size หุ่นยนต์ขนาดกลาง
      • Adult Size หุ่นยนต์ขนาดใหญ่เท่าคนจริง
Humanoid League – http://www.unmanned.vt.edu/news/images/robocupDARwInVsTUD800x600.jpg
    • Standard Platform League (SPL) เป็นการแข่งขันที่ให้หุ่นยนต์ที่มีจำหน่าย เพื่อลดความแตกต่างด้านความสามารถทางกายภาพของหุ่นยนต์ และเน้นเฉพาะปัญญาประดิษฐ์  เดิมใช้หุ่นยนต์สุนัข AIBO ของ Sony ปัจจุบันใช้หุ่นยนต์ NAO ของ Aldebaran Robotics
Standard Platform League – http://www.robocup.org/wp-content/uploads/2010/11/StandardPlatform2010-2-e1291046426934.jpg
    • Simulation League คล้ายกับ Standard Platform League ที่ไม่เน้นศักยภาพของหุ่นยนต์ ทำการแข่งขันบนระบบจำลองบนคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นลีกย่อย ๆ ได้แก่
      • 2D Simulation จำลองแบบสองมิติ
      • 3D Simulation จำลองแบบสามมิติ
Simulation League – http://www.robocupdutchopen.org/content/images/dutch%20open%20site/Robocup/Sim_Soccer_3D.png
    • Mixed Reality League เรียกได้ว่าเป็นลูกผสมระหว่าง Small Size League กับ Simulation League คือใช้หุ่นยนต์จริง ๆ ตัวเล็ก ๆ วิ่งเป็นจอภาพซึ่งจะแสดงภาพสนามและลูกบอล การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการเคลื่อนไหวของลูกบอลเป็นการจำลองขึ้นในคอมพิวเตอร์และแสดงผลบนจอภาพ
Mixed Reality League – http://www.reutlingen-university.de/typo3temp/pics/a5f5be7d89.jpg
    • Nanogram Demonstration Competition เป็นการแข่งขันเชิงสาธิตการสร้างระบบอัตโนมัติควบคุมหุ่นยนต์เล็กมาก ขนาดกว้าง ยาว ในหน่วยไมโครเมตร และมีน้ำหนักในหน่วยนาโนกรัม หุ่นยนต์แต่ละตัวอาจจะเล็ก แต่ระบบโดยรวมเพื่อขยับของเล็ก ๆ ขนาดนั้นมีขนาดไม่เล็กเลย ปัจจุบันไม่มีการแข่งขันแล้ว
Nanogram Demonstration Competition – http://www.cc.gatech.edu/compiler/images/nanobots.jpg
  • RoboCup Rescue แข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เน้นไปที่สภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (อาคาร) ไม่เน้นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ (ป่าเขา) แบ่งออกเป็น
    • Rescue Robot League (RRL) แข่งขันโดยใช้หุ่นยนต์จริง ๆ บังคับผ่านสัญญาณไร้สาย หรือหุ่นยนต์ทำงานเองอัตโนมัติ เพื่อเข้าไปค้นหา ระบุตำแหน่งและข้อมูลของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
Rescue Robot League – http://www.robocup2011.org/files/images/content/competition/rcrescuerobot.jpg
  • Rescue Simulation League (RSL) แข่งขันด้วยระบบจำลองคอมพิวเตอร์ เน้นการวางแผนการเข้าช่วยเหลือในระดับใหญ่ เช่น การประสานงานกันของรถดับเพลิงหลาย ๆ คัน การลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่
Rescue Simulation League – http://www.robocuprescue.org/wiki/images/Rescue.jpg
  • RoboCup Junior เป็นการแข่งขันของเด็ก ๆ ที่ใช้ความสามารถไม่เด็กเลย
    • Soccer Challenge แข่งขันเตะฟุตบอล ใช้ลูกบอลที่มีปล่อยแสงอินฟราเรด
Junior Soccer Challenge – http://www.demo.cs.brandeis.edu/rcj2001/m0.jpg
    • Rescue Challenge แข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ให้หุ่นยนต์วิ่งตามเส้น วิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และระบุตำแหน่งเหยื่อ
Junior Rescue Challenge – http://drgraeme.net/DrGraeme-RoboCup-World/RoboCupWorldV1/2008WorldRoboCupRescueRCX/IMG_0345.JPG
    • Dance Challenge การแข่งขันเต้น ที่หุ่นยนต์กับเด็ก ๆ ต้องเต้นร่วมกัน
Junior Dance Challenge – http://www.graupner-robotics.de/uploads/pics/robocup_junior_003_03.jpg
  • RoboCup @Home แข่งขันหุ่นยนต์บริการที่ทำงานในบ้าน ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น พูด ฟัง ไม่ใช่การกดปุ่มบนหุ่นยนต์ เคลื่อนที่ไปตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน หยิบ จับ เคลื่อนย้ายของได้
@Home League – http://www.robocup2011.org/files/images/content/competition/rcathome.jpg
  • Sponsored Leagues – Logistic League by FESTO แข่งขันปีนี้เป็นปีแรก (มีการสาธิตมา 2 ปี) โดยใช้หุ่นยนต์ Robotino ของบริษัท FESTO ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ (mobile robot) ในการแข่งขันจำลองการขนส่งสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม
Logistic League by FESTO – http://www.iberdidac.org/news/festo/Robocup4.JPG
  • RoboCup @Work สาธิตครั้งแรกในปีนี้ โดยให้ความสำคัญกับการนำหุ่นยนต์มาช่วยงานอุตสาหกรรม เน้นไปที่การใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่และหยิบจับได้ (mobile manipulator) โจทย์ เช่น การหยิบ ขนของ การให้หุ่นยนต์ไปควบคุมเครื่องจักรอื่น การทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์หลายตัว หรือระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์
@Work League – http://www.robocup2012.org/imgs/img_RoboCupWork.jpg

การแข่งขันที่มีทีมจากไทยเข้าร่วม ได้แก่ Small Size Soccer League, Rescue Robot League, Humanoid Kid Size League, Humanoid Teen Size League, @Home Leauge, Junior Soccer Challenge ในปีนี้ที่ประเทศเม็กซิโกก็มี 4 ทีมจากประเทศไทยเข้าร่วม ได้แก่

  • ทีม Skuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แข่งรายการ RoboCup Small-size Soccer League
  • ทีม Skuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แข่งรายการ RoboCup @Home
  • ทีม ดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แข่งรายการ RoboCup @Home
  • ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร แข่งรายการ RoboCup Rescue Robot League
  • *เพิ่มเติม 21 มิถุนายน 2555 – ทีม RoboSiam@Home จากมหาวิทยาลัยสยาม แข่งรายการ RoboCup @Home

ส่งแรงใจไปเชียร์ทีมไทยทุกทีมครับ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ RoboCup Wiki และ RoboCup.org

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...