เรื่องมันมีอยู่ว่า ผมได้ไปเห็นวิดีโอตุ๊กตายิงธนูของญี่ปุ่น (ดูวิดีโอในบทความครับ) แล้วก็ทึ่งกับมันมาก จึงพยายามหาในอินเทอร์เน็ต แต่ก็พบว่ามันเลิกผลิตไปแล้ว และก็ขายหมดไปแล้ว เมื่อต้นปีที่แล้วไปญี่ปุ่นจึงไปพยายามหา แต่ก็ไม่ได้กลับมาอยู่ดี ไปได้เป็นตุ๊กตาเสิร์ฟน้ำชาแทน ซึ่งเป็นของผู้ผลิตเดียวกัน การทำงานของตุ๊กตาตัวนี้คือเมื่อมีแขกมาเยี่ยมบ้าน เราก็จะไขลานตุ๊กตาตัวนี้แล้วนำถ้วยชาไปวางไว้บนถาด ตุ๊กตาจะเดินหน้าไปหาแขก จากนั้นก็โค้งคำนับเพื่อให้แขกหยิบชาไปดื่ม เมื่อแขกยกถ้วยชาขึ้น ตุ๊กตาจะหยุดทำงาน เมื่อแขกดื่มชาเสร็จแล้ววางถ้วยชาคืน ตุ๊กตาจะเลี้ยวกลับหลังและนำถ้วยชากลับมาให้เจ้าของ
ตุ๊กตาตัวนี้เป็นผลงานในกลุ่มที่เรียกว่า คะระคุริ (Karakuri) แปลว่า กลไกที่มีความสวยงาม ผลิตขึ้นตามแบบที่บันทึกไว้ใน คะระคุริ ซุอิ (Karakuri Zui) บันทึกเกี่ยวกับกลไกที่ใช้ในพวกนาฬิกาและตุ๊กตาเชิงกลเหล่านี้ซึ่งถูกเขียนขึ้นในยุคเอโดะ ราว ๆ ปี พ.ศ. 2340 ตุ๊กตาเสิร์ฟน้ำชาตัวนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในต้นตำรับของหุ่นยนต์สมัยใหม่เลยก็ว่าได้
หลังจากดองไว้ปีกว่าก็ได้ฤกษ์เอามาประกอบเลยเอามารีวิวให้ดูกันครับ
จริง ๆ อยากได้ตัวนี้ แต่หาไม่ได้
ที่ได้มาหน้าตากล่องเป็นแบบนี้
แกะกล่องมาเป็นแบบนี้ มีชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำจากพลาสติกลายไม้ สกรู ชุดญี่ปุ่นสำหรับตกแต่ง ถ้วยชา ไขควง คีมเล็กสำหรับประกอบ และคู่มือภาษาญี่ปุ่น
เนื่องจากคู่มือที่มีให้เป็นภาษาญี่ปุ่น อ่านไม่ออก เลยต้องไปดาวน์โหลดคู่มือภาษาอังกฤษมาแทน
ประกอบส่วนฐานที่ใช้เคลื่อนที่ ใช้การเคลื่อนที่คล้าย ๆ กับรถสามล้อ คือ มีล้อขับเคลื่อนด้านหลัง และล้อบังคับเลี้ยงอยู่ด้านหน้า ขาทั้งสองข้างต่อเข้ากับลูกเบี้ยวที่บริเวณล้อ ทำให้สามารถขยับหน้า-หลังได้ เหมือนกำลังเดิน แต่จริง ๆ ขาไม่ได้แตะพื้น
ชิ้นส่วนบริเวณลำตัว มีกลไก escapement อยู่ ซึ่งกลไกนี้มีหน้าที่แปลงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง (จากลาน) เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะ (ส่งต่อไปยังกลไกอื่น ๆ) กลไก escapement นี้พบได้ในนาฬิกา
ประกอบส่วนหัว มีกลไกลูกเบี้ยวในการดันให้หัวโค้งคำนับ
ประกอบกลไก ratchet มีหน้าที่บังคับให้มีการหมุนได้ทางเดียว ขณะไขลานกลไกนี้จะไม่หมุน แต่เมื่อลานทำงานกลไกจะหมุนเพื่อส่งกำลังไปยังกลไกอื่น ๆ ต่อไป
ประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกัน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างละ
ใส่หัว แขน และถาด
ใส่เสื้อผ้า
ประกอบเสร็จเรียบร้อยก็มาดูมันทำงาน
การทำงานของเจ้าตุ๊กตาเสิร์ฟน้ำชาตัวนี้เริ่มจากเราไขลาน จากนั้นวางถ้วยชาลงบนถาด น้ำหนักที่กดลงบนถาดจะไปปลดเข็มที่ขัดกลไกลานอยู่ออก ทำให้ลานคลายตัวไปหมุนล้อ ลูกเบี้ยวควบคุมการโค้งคำนับ และลูกเบี้ยวควบคุมทิศทางซึ่งต่อไปยังล้อหน้าอีกที ช่วงแรกตุ๊กตาจะเดินเป็นเส้นตรงและหน้าตรง เมื่อเคลื่อนที่ไประยะหนึ่งลูกเบี้ยวควบคุมการโค้งคำนับจะไปดันให้หัวโค้งคำนับลงมา เพื่อบอกให้แขกหยิบถ้วยชาออก เมื่อหยิบออก น้ำหนักบนถาดจะหายไป เข็มจะไปขัดกลไกลาน ทำให้ทุกอย่างหยุดทำงาน เมื่อแขกนำถ้วยชามาวางคืน เข็มก็จะยกขึ้นทำให้กลไกต่าง ๆ ทำงานต่อ จังหวะนี้ลูกเบี้ยวควบคุมทิศทางจะไปดันล้อหน้าให้เลี้ยวเป็นระยะทางหนึ่ง ทำให้ตุ๊กตาเลี้ยวกลับหลังหัน จากนั้นลูกเบี้ยวก็จะดึงให้ล้อหน้ากลับมาตรงคืน ตุ๊กตาก็จะเดินตรงกลับมายังเจ้าของ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำงาน มีข้อสังเกตนิดหน่อยว่า ขณะที่ตุ๊กตาโค้งคำนับ หากไม่มีการหยิบถ้วยชาออก ตุ๊กตาก็จะยังทำงานต่อไปเรื่อย ๆ (คือถ้าไม่รีบหยิบชามาดื่ม ก็จะอด)
ความยากง่ายในการประกอบถือว่ายากอยู่ เพราะชิ้นส่วนมีขนาดเล็ก สกรูก็ตัวเล็ก แถมรูที่ต้องขันสกรูก็เป็นรูที่ไม่มีเกลียว ต้องใช้สกรูเกลียวปล่อยที่ให้มาขันกินเนื้อพลาสติกลงไป ทำให้การประกอบทำได้ยาก แต่ผลงานที่ได้ออกมาก็ถือว่าน่าประทับใจ กลไกซับซ้อนระดับหนึ่ง ให้ความรู้เรื่องกลไกได้อย่างดี ชิ้นงานทำออกมาได้สวยงาม ใช้เป็นของสะสมของตกแต่งได้
ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ที่
- http://karakuriya.com/english/doll/karakurizui.htm
- http://www.museum.kyoto-u.ac.jp/english/materials/chakumiDolleng.html


