ภัยร้ายแรงที่กำลังจู่โจมเครื่องบินไร้คนขับ

วันที่ 19 มิถุนายน นักวิจัยจาก University of Texas ซึ่งนำทีมโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ Todd Humphreys ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองเข้าควบคุมเครื่องบินไร้คนบังคับ ด้วยการส่งสัญญาณปลอมไปที่เครื่องบินลำดังกล่าว (spoofing)  เพื่อหลอกล่อให้มันเชื่อว่ามันกำลังได้รับสัญญาณ GPS ที่ถูกต้องอยู่ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสัญญาณที่มันรับนั้นเป็นเพียงสัญญาณปลอม ซึ่งจะเป็นผลทำให้ผู้ปล่อยสัญญาณปลอมนี้สามารถเข้าควบคุมเครื่องบินไร้คนบังคับไปยังจุดที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าวิธีการนี้มีความเกี่ยวโยงกับการสูญเสียเครื่องบินไร้คนบังคับของ CIA ในอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว และข่าวที่ทางเกาหลีเหนือได้ออกมาประกาศความสำเร็จว่าพวกเขาสามารถเข้าควบคุมเครื่องบินไร้คนบังคับของสหรัฐฯ และบังคับให้ทำการลงจอดได้

คณะกรรมการตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงข่าวหนึ่งเดือนหลังจากการทดลองของนาย Humphreys ว่าเครื่องบินไร้คนบังคับที่มาจากภาคเอกชน (civilan drones) อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของน่านฟ้าสหรัฐฯ ได้ “การค้นพบปัญหานี้ทำให้เกิดความหวาดกลัว และเปิดเผยให้เห็นถึงช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องบินไร้คนบังคับภายในสหรัฐฯ  และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องอุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยนี้เพื่อปกป้องระบบการบินของสหรัฐฯ ในขณะที่การใช้งานเครื่องบินไร้คนบังคับกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นาย Michael McCall กล่าว

แต่ปัญหาก็คือ องค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration, FAA) และหน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคงภายในประเทศของสหรัฐฯ ยังไม่มีการยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับข้อบังคับ หรือระบบที่ได้รับการรับรองสำหรับระบบเครื่องบินไร้คนบังคับที่จะสามารถป้องกันการจู่โจมจากการส่งสัญญาณ GPS ปลอมนี้ได้  และที่แย่ไปกว่านั้นคือทั้งสองหน่วยงานไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว

สำหรับภาคอุตสาหกรรมเครื่องบินไร้คนบังคับ มีผู้ผลิตบางรายเท่านั้นมีระบบป้องกันการถูกสัญญาณปลอมในลักษณะนี้ ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายกลับไม่ได้คำนึงถึงปัญหาเล่านี้เลยด้วยซ้ำ!

“เราได้คำนึงความเป็นไปได้ในเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะถูกจู่โจมโดยการใช้สัญญาณรบกวนอยู่ตลอด” Dennis D’Annunzio, CTO ของบริษัท Rotomotion ซึ่งผลิตเครื่องบินไร้คนบังคับให้กับหน่วยงานตำรวจในสหรัฐฯ กล่าว “แต่เราไม่เคยนึกถึงการถูกสัญญาณปลอม และเข้าควบคุมในลักษณะเช่นนี้มาก่อน”

นาย D’Annunzio ยังได้กล่าวอีกว่าพวกเขามีระบบที่จะจัดการกับสัญญาณที่ถูกรบกวน หรือสัญญาณจากดาวเทียมเกิดขาดหายไปอยู่แล้ว  แต่ถ้าเกิดมีใครส่งสัญญาณปลอม ออกมาเพื่อหลอกให้อุปกรณ์รับสัญญาณ GPS ของเครื่องบินไร้คนบังคับ เครื่องบินนั้นก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสัญญาณที่มันได้รับนั้นเป็นสัญญาณปลอม เพราะสัญญาณปลอมที่ส่งออกมาเพื่อการหลอกล่อนั้นเหมือนกันกับสัญญาณที่ส่งมาจากดาวเทียม GPS จริง ๆ ทุกประการทั้งด้านของจำนวนสัญญาณที่ได้รับ และความเข้มของสัญญาณ

ด้านบริษัท DraganFly ออกมาให้ความเห็นว่าสำหรับพวกเขาแล้วเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขาเลย นาย Kevin Lauscher ตัวแทนของบริษัท Draganfly กล่าว “เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขา เพราะว่าระบบที่บริษัทออกแบบเพื่อใช้งานในระยะใกล้ และอยู่ภายใต้การตรวจสอบของผู้บังคับเสมอ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นทุกอย่างที่พวกเขาต้องทำก็คือ … แค่ร่อนลงเท่านั้นเอง”

ภายในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้น 1 เดือนหลังจากที่ทีมนักวิจัยของนาย Humphreys ได้แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ด้านความปลอดภัยนี้ นาย Humphreys ยังได้แสดงความคิดเห็นว่า ความเสี่ยงดังกล่าวที่สามารถเกิดกับเครื่องบินไร้คนบังคับในปัจจุบันยังไม่เป็นภัยร้ายแรงเท่าไหร่นักเพราะยังมีจำนวนน้อยและมีขนาดเล็ก แต่จะเป็นภัยร้ายแรงอย่างแน่นอนถ้าจำนวนเครื่องบินไร้คนบังคับนี้เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้อย่างที่ FAA ได้คาดการณ์เอาไว้

ปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกถ้าเครื่องบินไร้คนบังคับมีขนาดใหญ่ขึ้น และได้รับอนุญาตให้บินในน่านฟ้าระดับบินกันกับเครื่องบินทั่วไปได้ อย่างเช่นที่นาย Fred Smith, CEO ของบริษัท FedEx ได้เสนอแนวคิดเอาไว้ว่าจะให้เครื่องบินไร้คนบังคับเพื่อการขนส่งพัสดุแทนการใช้คนขับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

บริษัท AdaptiveFlight ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับที่ใช้ในการทดสอบที่ University of Texas ได้เปิดเผยว่าพวกเขากำลังแก้ปัญหาการถูกรบกวนโดยสัญญาณปลอมดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งระบบจะสามารถตรวจจับสัญญาณ GPS แปลกปลอมได้ และจะปิดการใช้สัญญาณ GPS เมื่อตรวจพบความผิดปกติ และเข้าสู่ระบบการควบคุมด้วยมือแทน  แต่ปฎิเสธที่จะให้รายละเอียดที่มากกว่านี้

ทาง Honeywell ก็ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นต่อเครื่องบินไร้คนบังคับของพวกเขาว่า เครื่องบินไร้คนบังคับของ Honeywell มีความสามารถที่จะทนต่อการบุกรุกจากสัญญาณปลอมดังกล่าวได้ เพราะว่าพวกเขาใช้เซนเซอร์หลายอย่างในการระบุตำแหน่ง ไม่ใช่การพึ่งพาสัญญาณ GPS เพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้ระบบการบินอัตโนมัติของพวกเขาสามารถตรวจพบสัญญาณปลอมนี้ได้

ทางออกทางหนึ่งสำหรับปัญหานี้ก็คือการใช้การเข้ารหัสข้อมูลเพื่อที่เครื่องรับสัญญาณ GPS ของเครื่องบินไร้คนบังขับจะรับข้อมูลจากแหล่งสัญญาณที่เชื่อถือได้เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นระบบที่ใช้อยู่ในการทางทหารอยู่แล้ว เรียกว่า SAASM (Selective Availability Anti-Spoofing Module) ซึ่งน่าจะเป็นระบบที่นำมาใช้ในภาคเอกชนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่ามีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จำหนายระบบ GPS แบบที่ใช้ในการทางทหารนี้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องบินไร้คนบังคับสูงขึ้นอย่างมาก

ในอนาคตเราอาจจะมีระบบ SAASM สำหรับใช้ในภาคเอกชน แต่นั้นก็ต้องอาศัยปรับปรุงเทคโนโลยี GPS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด รวมไปถึงดาวเทียมที่ใช้ในการส่งสัญญาณ GPS ด้วย ซึ่งน่าจะใช้เวลา 3-5 ปี กว่าที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนและลงทุน ก่อนที่จะเริ่มนำเทคโนโลยีไปใช้จริงได้

นาย Humphreys ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการพัฒนาเทคโนโลยี SAASM สำหรับภาคเอกชนนี้อาจจะต้องใช้เวลามากถึง 4 ปีสำหรับนักพัฒนาที่เก่งมาก ๆ เพื่อการพัฒนาโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับระบบนี้  ซึ่งเกินความสามารถของคนเดินถนนธรรมดา หรือแฮกเกอร์ระดับกลาง ๆ จากกลุ่ม Anonymous จะพัฒนาระบบนี้ได้  และถึงแม้ว่าภาคเอกชนจะมีระบบ SAASM นี้มาใช้งาน ปัญหาการถูกหลอกโดยใช้สัญญาณปลอมนี้ก็ยังไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

นาย Michael Toscano, CEO ของ Association for Unmanned Vehicle Systems International (AUVSI) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การใช้สัญญาณปลอมนี้ไม่ได้ทำได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนคิด เพราะว่าจะต้องมีข้อมูลตำแหน่งและสามารถติดตามเป้าหมายนั้นได้ อีกทั้งเป้าหมายยังต้องอยู่ภายในระยะทำการของเครื่องส่งสัญญาณปลอมนั้นอีกด้วย

อุตสาหกรรมเครื่องบินไร้คนบังคับตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณปลอมนี้และกำลังหาทางแก้ไขอยู่  หลายบริษัทภายใน AUVSI ก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเพิ่มระดับความปลอดภัยให้มากขึ้นอีก

อ้างอิง:
http://www.wired.com/dangerroom/2012/07/drone-gps-spoof/all/
http://www.wired.com/dangerroom/2012/07/drone-hijacking/

LINE it!