Artaic บริษัทกระเบื้องโมเสกใช้หุ่นยนต์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

Artaic เป็นบริษัทออกแบบและติดตั้งกระเบื้องโมเสก (mosaic) ก่อตั้งโดย Ted Acworth เขาได้เห็นและหลงใหลในศิลปะชนิดนี้เมื่อครั้งเดินทางไปยุโรป จึงสร้างโมเสกเป็นงานอดิเรก หลังจากนั้นเขาก็คิดได้ว่า เวลาที่เขาเสียไปในการสร้างโมเสกนั้น เขาสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาสร้างโมเสกแทนได้ ผลปรากฎว่าการใช้หุ่นยนต์ช่วยทำให้การสร้างโมเสกนั้นเร็วกว่าใช้คนสร้างถึง 10 เท่า และมีความผิดพลาดน้อยกว่า เป็นผลทำให้ราคาโมเสกถูกลงเหลือประมาณ 600 – 5,000 บาทต่อตารางฟุต เทียบกับ 6,000 – 13,000 บาทต่อตารางฟุต ในกรณีของโมเสกแบบดั้งเดิมที่ใช้คนสร้าง

ขั้นตอนการสร้างและติดตั้งโมเสกมีดังนี้

  1. นักออกแบบนำภาพต้นแบบเข้าไปประมวลผลด้วยซอฟท์แวร์ที่จะให้ผลลัพธ์เป็นภาพของสี่เหลี่ยมสีต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพต้นแบบ จากนั้นนักออกแบบจะทำการตกแต่งอีกนิดหน่อย
  2. สีที่ใช้ในตำแหน่งต่าง ๆ ของภาพจะถูกส่งไปให้แขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหยิบกระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ ขนาดกว้าง ยาว ครึ่งนิ้วหรือหนึ่งนิ้ว สีต่าง ๆ ไปวางบนแผ่นพลาสติกที่ทำหน้าที่เป็นแผ่นประสานชั่วคราว (polymer form) แผ่นละ 144 ชิ้น (12 x 12) หรือ 729 ชิ้น (27 x 27)
  3. กระเบื้องที่เรียงแล้วบนแผ่นประสานชั่วคราวจะถูกส่งไปยังสถานที่ติดตั้ง
  4. พนักงานจะใช้ปูนยาแนว (grout) ทาบนพื้นผิวที่จะติดตั้ง จากนั้นกระเบื้องบนแผ่นประสานชั่วคราวจะถูกทาบลงบนพื้นผิวนั้น และทำการลอกแผ่นประสานชั่วคราวออก

ปัจจุบัน Artaic ใช้แขนหุ่นยนต์เพียงแขนเดียวในการเตรียมงานโมเสก 1 งาน ในอนาคตทางบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาระบบที่ใช้หุ่นยนต์หลายตัวช่วยกันทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นอีก 5 – 10 เท่า

ภาพและที่มา Hizook

LINE it!