วันที่ 18 – 20 กันยายน 2555 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2012 หนึ่งในหัวข้อเสวนาคือ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายโดยใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน ได้รับเกียรติจากนักวิจัยและแพทย์ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาในสายงานนี้จากหน่วยงานต่าง ๆ ในไทย และจากทางสิงคโปร์ด้วย ผมมีโอกาสได้เข้าไปร่วมในการเสวนานี้ จึงขอยกประเด็นน่าสนใจมาแบ่งปัน
- การทำกายภาพบำบัดให้ได้ผลต้องกิจกรรมเฉพาะทางที่ฝึกกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำซ้ำบ่อย ๆ และคนไข้ต้องรู้สึกอยากบำบัด
- ปัญหาของงานด้านการกายภาพบำบัด ได้แก่
- เป็นงานที่ต้องใช้แรงงานเยอะ หลายกรณีต้องใช้ผู้ทำกายภาพบำบัดหลายคนในการยก ย้ายตัวผู้ป่วย
- มีผู้เชี่ยวชาญน้อย
- ลักษณะงานมีประสิทธิภาพต่ำ เพราะต้องใช้บุคคลากรอย่างน้อยหนึ่งคนต่อคนไข้หนึ่งคน
- เป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อ ต้องสร้างแรงกระตุ้นให้คนไข้อยากทำการบำบัด
- การแก้ปัญหาการใช้แรงงานเยอะ จึงมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วย เช่น เครื่องที่ช่วยขยับแขน ขา ของคนไข้ หรืออุปกรณ์ที่ช่วยแบกรับน้ำหนักของคนไข้
- เครื่องกายภาพบำบัดที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ดัง ๆ เช่น
- MIT-Manus ใช้กายภาพบำบัดแขน

ภาพจาก – http://web.mit.edu/newsoffice/2010/stroke-therapy-0419.html
- Lokomat เครื่องกายภาพบำบัดการเดิน ขายอยู่ที่ราคาประมาณ 16 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้บริการตกครั้งละ 5,000 บาท ในขณะที่ถ้ากายภาพบำบัดโดยใช้คนช่วยจะตกครั้งละ 500 บาท ทำให้มีหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยายามพัฒนาเครื่องลักษณะนี้ขึ้นมา ให้มีราคาถูกลง

ภาพจาก – http://www.hocoma.com/media-center/media-images/
- การใช้เครื่องช่วยในการขยับ มี 2 แนวทาง
- end effector คือ ขยับปลายแขน ขา โดยไม่สนใจว่าแขน ขาจะอยู่ท่าทางไหน
- exoskeleton คือ ขยับทุกข้อต่อ ตั้งแต่ไหล่ไปถึงปลายแขน หรือเอวไปถึงปลายขา ทุกข้อต่อจะถูกบังคับให้เคลื่อนที่ตามการเคลื่อนที่ของเครื่อง
- การแก้ปัญหาความน่าเบื่อในการบำบัด หลายที่ทำโดยการใช้เกม เช่น เมื่อทำการบำบัดการเดิน ก็จะเห็น avatar ตัวเองเดินไปมา หรือมีการนำเกมจากเครื่องเกม Nintendo Wii มาใช้บำบัด
- เกมในงานกายภาพบำบัด มีการใช้เทคโนโลยีความจริงผสม (mixed reality) เข้าช่วย ซึ่งแบ่งได้หลายรูปแบบ
- real environment คือ คนจริง ในสภาพแวดล้อมจริง
- augmented reality คือ คนจริง ในสภาพแวดล้อมจริงที่มีการฉายภาพเสมือนเพิ่มเติมเข้าไป
- augmented virtual คือ การฉายภาพคนจริง ลงไปในสภาพแวดล้อมจำลอง (ประมาณ blue screen)
- virtual reality คือ คนจำลอง (avatar) ในสภาพแวดล้อมจำลอง (ประมาณเกมสามมิติทั่ว)
- ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยจำนวนมาก ในสิงคโปร์ก็เริ่มมากขึ้น และอีกประมาณ 10 ปี จีนก็จะเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก
- ถ้าทำเครื่องทำกายภาพบำบัดที่เล็ก เคลื่อนย้ายได้จะดี เพราะคนไข้จะได้นำไปใช้ได้ตลอดเวลา
- งานใกล้เคียงกับงานกายภาพบำบัด (rehabilitation technology) คือ อุปกรณ์ช่วยเหลือ (assistive technology)
- rehabilitation technology ใช้คืนความสามารถให้คนไข้ ใช้เสร็จแล้วคนไข้จะมีความสามารถเหมือนเดิม ผู้ใช้และตลาด คือ นักกายภาพบำบัด
- assistive technolgy ใช้ช่วยให้คนไข้ทำบางสิ่งได้ แต่เวลาที่ไม่ได้ใช้ ก็จะไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้เอง ผู้ใช้และตลาด คือ ตัวผู้ป่วยเอง
- งานด้านกายภาพบำบัดเกี่ยวข้องกับคน 3 กลุ่ม ที่ต้องร่วมมือกัน
- neuroscientist ศึกษาระบบประสาท ทำยังไงให้ประสาทกลับมาเชื่อมกันเหมือนเดิม
- clinician คิดรูปแบบ กระบวนการ กิจกรรมที่ใช้ในการบำบัด
- technologist พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ
- เดินดี เป็นโครงการจากมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องกระตุ้นการกระกดปลายเท้า ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่ไม่สามารถบังคับการยกปลายเท้าได้ ซึ่งทำให้การเดินลำบากมาก โดยเครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ใช้ยกปลายเท้า เครื่องที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาเพียง 6,000 บาท ในขณะที่ของต่างประเทศราคาอยู่ที่หลักหลายหมื่นบาท
- Sensible Tab เป็นผลงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามและแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นเครื่องกายภาพบำบัดแขน กำลังจะออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้
- ยังมีที่ว่างให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยได้อีกเยอะ
- สิ่งสำคัญคือ การรีบพัฒนาต้นแบบออกมาทดสอบ เพราะจะได้รับเสียงตอบรับเพื่อกลับไปปรับปรุงให้ผลงานสมบูรณ์ ตรงตามความต้องการมากที่สุด
เป็นงานเสวนาที่ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว แสดงให้เห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยทำให้ความเป็นอยู่ของคนเราดีขึ้น

The following two tabs change content below.

ตั้งแต่ได้เล่นหุ่นยนต์ Lego Mindstorm ก็บ้าและคลุกคลีอยู่กับหุ่นยนต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ...
