Beam telepresence จาก Suitable Technologies

บริษัท Suitable Technologies บริษัทที่แตกออกมาจากบริษัท Willow Garage (ผู้พัฒนา ROS, หุ่นยนต์บริการ PR2, หุ่นยนต์ telepresence Texai) เปิดตัวระบบหุ่นยนต์ telepresence ใหม่ ชื่อ Beam Remote Presence System (RPS) ซึ่งประกอบไปด้วย

  • Beam Remote Presence Device (RPD) หุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อที่ความเร็วเทียบเท่าคนเดิน มีหน้าจอ 17 นิ้วไว้แสดงหน้าผู้ควบคุมขนาดเท่าจริง ทำงานได้ 8 ชั่วโมงต่อการประจุไฟหนึ่งครั้ง กล้อง HD 2 ตัว ให้มุมมองที่กว้าง ไมโครโฟน 6 ตัว เพื่อระบุทิศทางของเสียง ตัดเสียงรบกวนและเสียงสะท้อน และจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือใช้ WiFi 4 ชุด ร่วมกับอัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นมาพิเศษ ช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ราบรื่นแม้กระทั่งช่วงที่เปลี่ยนผ่านระหว่าง access point
  • Beam Client ซอฟต์แวร์ควบคุมการเคลื่อนที่ การสื่อสารด้วยภาพและเสียง
  • Beam Dock แท่นประจุไฟ

ซ้าย – Beam Client, ขวา – Beam Dock

ราคาของ Beam อยู่ที่เกือบ 5 แสนบาท ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น ๆ เช่น QB Anybot อยูที่ 3 แสนบาท Double Robotics อยู่ที่ 78,000 บาท โฆษกบริษัท Suitable Technologies กล่าวว่า จุดเด่นของ Beam อยู่ที่ความสามารถในการติดต่อเครือข่ายไร้สายได้อย่างราบรื่น ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการใช้งานระบบ telepresence ระบบ telepresence อื่น ๆ สามารถรักษาการติดต่อได้ประมาณ 70-80% ของเวลาการใช้งาน นั่นไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัท

Hizook เว็บไซต์ข่าวหุ่นยนต์ได้ออกมาวิจารณ์ว่าการใช้ชื่อ Beam นั้นไม่เหมาะสม เพราะ BEAM เป็นชื่อหุ่นยนต์ประเภทหนึ่ง ที่ใช้วงจรไฟฟ้าอย่างง่ายเพื่อเลียนแบบพฤติกรรมของระบบประสาท ชื่อนี้ถูกใช้และรู้จักกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ไม่ควรนำมาเป็นชื่อทางการค้า ความคิดเห็นส่วนตัวผมคิดว่า Suitable Technologies อาจได้แรงบันดาลใจในการใช้ชื่อ Beam จากภาพยนต์วิทยาศาสตร์เรื่อง Star Trek ก็ได้ ในภาพยนต์จะมีเครื่องย้ายมวลสาร (teleportation) ไว้เคลื่อนย้ายลูกเรือลงไปสำรวจดาวเคราะห์หรือสถานที่ต่าง ๆ วิศวกรผู้ควบคุมเครื่องนี้ชื่อ Scotty เวลาลูกเรือจะย้ายจากดาวเคราะห์ขึ้นมาบนยานอวกาศก็จะพูดว่า “Beam me up, Scotty” ซึ่งเป็นคำพูดที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเช่นกัน Suitable Technologies อาจหมายถึงว่า การใช้ระบบ telepresence ก็คล้าย ๆ กับการ teleport ตัวเองไปยังอีกที่หนึ่งก็ได้

ที่มา IEEE Spectrum Automaton และ Hizook
ภาพจาก Suitable TechnologiesBenjamin Kanarek blog

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...