ฝูงปลาหุ่นยนต์สำรวจมลพิษทางน้ำ

หุ่นยนต์ปลาขนาดความยาว 1.5 เมตรตัวนี้เป็นตัวต้นแบบ อยู่ระหว่างทดสอบการทำงานตรวจดูระดับออกซิเจนและระดับความเค็มในแหล่งน้ำทางเหนือของประเทศสเปน และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรปหรือ EU ด้วย หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ หุ่นยนต์ปลาตัวนี้จะได้ว่ายกันเป็นฝูงลาดตระเวนตามท่าเรือและอ่าวต่าง ๆ เพื่อตรวจวัดสารพิษในน้ำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

จริง ๆ แล้วเทคนิคปัจจุบันที่ใช้อยู่เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำคือการเก็บตัวอย่างน้ำโดยนักประดาน้ำประมาณเดือนละ 1 ครั้ง แล้วนำไปวิเคราะห์ผลที่ห้องปฏิบัติการอีกที ซึ่งการตรวจเพียงเดือนละครั้งนั้น หากมีมลภาวะในน้ำเกิดขึ้นแล้วป้องกันไม่ทัน ผู้เคราะห์ร้ายอาจจะได้รับผลกระทบถึง 1 เดือนกว่าจะทราบจากการสำรวจพบครั้งถัดไปว่ามีมลภาวะเกิดขึ้น ดังนั้น เราควรมีระบบที่ตรวจสอบสภาพน้ำได้ตลอดเวลาจะดีกว่า หากมีคนปล่อยน้ำเสียลงมา จะได้ทราบและหยุดยั้งการกระทำนั้นได้ทันท่วงที และนี่เป็นที่มาที่ทำให้เกิดหุ่นยนต์ปลาตัวนี้ หากว่ามันพบความผิดปกติของน้ำ มันก็จะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมเพื่อบอกตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติได้ทันที

หุ่นยนต์ตัวนี้ได้รับการออกแบบให้เคลื่อนที่ไปในน้ำได้ในลักษณะเดียวกับปลา คือ ใช้ครีบสะบัดไป-มา ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์แบบเรือหรือหุ่นยนต์ตัวอื่น ๆ โครงสร้างภายในคร่าว ๆ ดูได้จากรูปด้านล่างครับ นอกจากการวัดระดับออกซิเจนและความเค็มแล้ว หุ่นยนต์ปลาต้นแบบยังสามารถเปลี่ยนตัวตรวจรู้ (sensor) เป็นชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ตรวจสอบโลหะทองแดง ตะกั่ว เป็นต้น

ภาพและที่มา roboshoal ผ่านทาง gizmag

LINE it!