6 วิดีโอแสดงพัฒนาการหุ่นยนต์ในรอบ 25 ปี

เนื่องในโอกาสที่การประชุมวิชาการ IROS (IEEE/RSJ International Conference on Intelligent Robots and Systems) ครบรอบ 25 ปีในปีนี้ จึงมีการประกวดวิดีโอแสดงประวัติและความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา 6 วิดีโอที่เข้ารอบสุดท้ายมีดังนี้

Ultra High-speed Robot Based on 1 kHz Vision System – การพัฒนาระบบหุ่นยนต์ความเร็วสูงระดับ 1 กิโลเฮิรตซ์ ซึ่งมีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ระบบการมองภาพความเร็วสูง และระบบแขน/มือความเร็วสูง เทคนิคที่ทำให้มองภาพด้วยความเร็วสูงได้ คือ การทำระบบประมวลผลภาพฝังเข้าไปในกล้องเลย ทำให้ลดข้อจำกัดเรื่องความเร็วในการรับส่งข้อมูล ต้นกำลังในมือหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ให้มีแรงบิดและความเร็วรอบสูงในตัวเดียวกัน ระบบการมองและแขนกลทำงานที่ความเร็ว 1 กิโลเฮิรตซ์เท่ากันทำให้พลวัต (dynamics) ของระบบตรงกัน และควบคุมได้ดีขึ้น งานนี้มาจาก Ishikawa Oku Lab ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวที่เราเคยเสนอข่าวมาแล้ว (12) วิดีโอนี้เป็นหนึ่งในสองวิดีโอที่ชนะการประกวด

RoboCup Robot Soccer History 1997 – 2011 – พัฒนาการของการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล RoboCup ใน 4 ลีก ได้แก่ Small size, Middle size, Standard platform และ Humanoid (ดูรายละเอียดการแข่งขัน RoboCup ได้ในบทความเก่านี้) หุ่นยนต์ทำงานได้เร็วและแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำงานประสานงานกันเป็นทีมได้ดีขึ้น และยังทำงานในลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ (การแข่งขัน Middle size และ Humanoid เดิมหุ่นยนต์สามารถใช้ระบบการมองรอบทิศทางได้ ปัจจุบันถูกห้ามไปแล้ว และอนุญาตให้มองได้ในทิศทางเดียวเหมือนมนุษย์)

10 Years in the Cooperation of Unmanned Aerial Systems – การพัฒนาการทำงานร่วมกันของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) แสดงถึงการพัฒนาระบบควบคุม UAV หลายรูปแบบ (เครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์, ควอดโรเตอร์) หลายลำพร้อมกัน การประสานงานกันทำภารกิจโดยใช้ความความสามารถพิเศษของ UAV แต่ละลำ (เครื่องบินมีระยะทำการไกล ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์สามารถบินวนเหนือเป้าหมายได้ดี) การให้ UAV หลายลำช่วยกันแบกของที่หนักเกินกว่าแต่ละลำจะแบกได้เพียงลำพัง

The Power of Prediction: Robots that Read Intentions – การพัฒนาหุ่นยนต์ให้คาดการณ์ความตั้งใจของมนุษย์ในการทำงานร่วมกัน เวลามนุษย์ทำงานร่วมกัน เราสามารถเดาได้ว่าเพื่อนจะทำอะไร แล้วเราควรทำอะไรได้ (เพื่อนหยิบกาน้ำ เราก็เอาถ้วยน้ำมาวางไว้ใกล้ ๆ ให้รินน้ำง่าย ๆ) การที่หุ่นยนต์จะมาทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ดีนั้นต้องอาศัยความสามารถในด้านนี้ งานวิจัยนี้ต้องใช้ศาสตร์ถึง 3 ด้าน คือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ จิตวิทยา (psychology) และวิทยาการปัญญา (cognitive science) การทดลองในงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์เป็นผู้ร่วมงานที่ดีกว่ามนุษย์ในบางด้าน เช่น สามารถตรวจสอบ แจ้งเตือน และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เพื่อนร่วมงานทำผิดได้

Development of Robotic Hands: The UB Hand Evolution – พัฒนาการของมือหุ่นยนต์จาก University of Bologna ใช้กลไกการขับเคลือนผ่านสลิงเพื่อเลียนแบบการทำงานของเส้นเอ็น เริ่มจากมือ 3 นิ้ว พัฒนามาจนเป็นมือ 5 นิ้วคล้ายมนุษย์ เป้าหมายเพื่อมีมือหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ทราบล่วงหน้าเหมือนในอุตสาหกรรม

Variable Impedance Actuators: Moving the Robots of Tomorrow – การพัฒนาต้นกำลังที่ปรับความเกร็งตัว (stiffness) ได้ มนุษย์เราสามารถเกร็งกล้ามเนื้อได้หลายระดับ การปรับคุณสมบัติด้านความเกร็งนี้ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพดี มีพลวัตที่ดี และยังป้องกันอันตรายที่เกิดจากแรงกระแทกได้ด้วย วิดีโอนี้แสดงถึงพัฒนาการของต้นกำลังลักษณะดังกล่าวที่ถูกพัฒนามาใช้ในแขน ขาหุ่นยนต์ วิดีโอนี้เป็นอีกหนึ่งวิดีโอที่ชนะเลิศการประกวดครั้งนี้ด้วย

ที่มา IEEE Spectrum Automaton

LINE it!