ที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2556 และสิ่งจะที่ได้เจอในปี พ.ศ. 2557

best-of-2013

กำลังจะผ่านไปในไม่ช้าแล้วสำหรับปี พ.ศ. 2556 ปีที่เยี่ยมยอดสำหรับวงการหุ่นยนต์อีกปีหนึ่ง (คิดว่าปี พ.ศ. 2555 ยอดเยี่ยมแล้ว พ.ศ. 2556 นี้กลบ พ.ศ. 2555 สนิท) มาดูกันนิดหน่อยว่าที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2556 มีอะไรบ้าง

ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจไอทีลงมาเล่นหุ่นยนต์

google+robot

อาจจะถึงเวลาที่ธุรกิจไอที (Information Technology) เริ่มตัน บริษัทใหญ่ ๆ เริ่มขยับขยายไปสู่เทคโนโลยีอื่น ที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณี Google กวาดซื้อบริษัทหุ่นยนต์ จะมีข่าวไหนแรงกว่าข่าวนี้เป็นไม่ได้ ถึงแม้ปีที่แล้วจะมีกรณี Amazon ซื้อ Kiva Systems แต่กรณีของ Google นี้ร้อนแรงกว่า ก็เล่นซุ่มซื้อบริษัทหุ่นยนต์ไปถึง 8 บริษัทในครึ่งปี ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า Google จะปล่อยผลงานหุ่นยนต์อะไรออกมา

นอกจากกรณีของ Google แล้ว Amazon ยักษ์ใหญ่ด้าน e-commerce ก็ได้ออกมาสาธิตตัวอย่างบริการส่งของฉับไวในเวลา 30 นาทีด้วย UAV ทางด้าน Apple ก็ได้ซื้อบริษัท PrimeSense ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนา Microsoft Kinect รุ่นแรก ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์เป็นจำนวนมาก และ WiFiSLAM ผู้พัฒนาระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร ถึงแม้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า Apple คงไม่ได้สนใจจะพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ถ้า iPad สามารถรับรู้ภาพสามมิติได้ ระบุตำแหน่งในอาคารได้แม่นยำ ก็มีความเป็นได้สูงว่าอาจจะมีหุ่นยนต์แนว telepresense ที่พัฒนาขึ้นจาก iPad ก็เป็นไปได้

DARPA Robotics Challenge

drc-schaft-hose

ถัดมาเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่เรียกได้ว่าโหดที่สุดนับตั้งแต่มีการแข่งขันหุ่นยนต์มาเลยก็ว่าได้ แต่ยิ่งโหดยิ่งผลักดันการพัฒนาได้ไกล DARPA Robotics Challenge ปีนี้มีการแข่งขัน 2 รอบ คือ รอบ simulation และ Trial 2013 ซึ่งผลจากรอบ Trial 2013 ก็น่าประทับใจมาก เมื่อมี 4 ทีมสามารถทำคะแนนเกินครึ่ง ซึ่งทาง DARPA เองเคยบอกว่า แค่มีทีมเดียวที่ได้คะแนนเกินครึ่งก็เจ๋งจะแย่อยู่แล้ว การแข่งขันครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาปฏิบัติการณ์ในสภาพแวดล้อมจริงที่โหดร้าย ที่ไม่สามารถคาดเดาและควบคุมได้ แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์ในห้องทดลอง หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในสภาพแวดล้อมที่กำหนดขึ้นมาแล้วแบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไป

ผู้ผลิตรถยนต์ต่างแข่งกันโชว์ต้นแบบรถยนต์อัตโนมัติ

tesla-model-s

ถึงแม้งานวิจัยด้านรถยนต์อัตโนมัติจะมีมานานมาก (กว่า 30 ปี) แต่การพัฒนาเพิ่งมาก้าวกระโดดภายใน 10 ปีที่ผ่านมา หลังจาก DARPA (อีกแล้ว) จัดการแข่งขัน Grand Challenge และหลังจากจบการแข่งขันไป Google (อีกแล้ว) ก็ได้ดึงตัว Sebastian Thrun ผู้นำทีม Stanford ไปร่วมทีมพัฒนารถอัตโนมัติของ Google ซึ่งแสดงผลงานอันดีเด่นออกมามากมายในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างไม่ค่อยมีใครออกมาแสดงความสนใจรถอัตโนมัติ จน Google เองต้องเป็นผู้ผลักดันให้มีการออกกฏหมายรองรับการใช้รถอัตโนมัติวิ่งบนท้องถนน และมีการเจรจากับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

ในปีที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ใหญ่ ๆ อย่าง Honda, Tesla, Nissan, Ford, Volvo เป็นต้น ต่างพากันแสดงผลงานรถอัตโนมัติของตน และประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการนำรถยนต์อัตโนมัติมาใช้วิ่งบนท้องถนนอย่างจริงจัง

จีนส่งหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์

yutu-change3

อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อ NASA ส่งหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดาวอังคารมาแล้วหลายครั้ง แค่จีนส่งหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ทำไมจะเป็นเรื่องใหญ่โต ในความเป็นจริงแล้วการส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นั้นมีความท้าทายหลายอย่างที่ยากกว่าการส่งไปดาวอังคาร เช่น บนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ ดังนั้นในการร่อนลงจอดจะไม่สามารถใช้ร่มชูชีพชะลอความเร็วได้เลย ในขณะที่หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารของ NASA ทุกตัวใช้ร่มชูชีพช่วยในการร่อนลง นอกจากนั้น การที่ดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศทำให้ไม่มีมวลอากาศมาเก็บความร้อน อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนจึงต่างกันถึงกว่า 200 องศาเซลเซียส และการที่ไม่มีชั้นบรรยากาศทำให้แสงที่มาจากดวงอาทิตย์ไม่มีการกระเจิง ดังนั้นหากใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ในการสะสมพลังงาน จะต้องหันแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังดวงอาทิตย์เสมอจึงจะสะสมพลังงานได้ ต่างจากหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าตรง ๆ ได้ ที่โหดขึ้นไปอีกคือ 1 วันบนดวงจันทร์ยาวนานถึง 28 วันบนโลก ดังนั้นหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ต้องทนอุณหภูมิที่หนาวเหน็บ และช่วงเวลาที่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 14 วัน

การที่จีนสามารถส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์ได้นับเป็นชาติที่ 2 รองจากสหภาพโซเวียต และถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญต่อยุคอวกาศของจีน

แล้วเราจะได้เห็นอะไรในปี พ.ศ. 2557 ที่จะถึงนี้บ้าง

DARPA Robotics Challenge – Final 2014

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่จะยากขึ้นอีก มีการผสมหลายภารกิจรวมกันเป็นภารกิจใหญ่ เน้นความเป็นอัตโนมัติของหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น แข่งช่วงปลายปี พ.ศ. 2557

Google Lunar X Prize – Milestone Prize

Google Lunar X Prize เป็นอีกหนึ่งการแข่งขันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ X Prize ครั้งก่อนหน้าเป็นการแข่งขันการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศโดยเอกชน ครั้งนี้ไม่เพียงแข่งขันการส่งจรวด แต่เป็นการส่งหุ่นยนต์ขึ้นไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ วิ่งบนดวงจันทร์ 500 เมตร และส่งภาพความละเอียดสูงกลับมา การแข่งขันจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2558 (ไม่ว่าจะมีผู้ทำได้หรือไม่) แต่ในปี พ.ศ. 2557 จะมี Milestone Prize ให้แก่ทีมที่สามารถสาธิตว่าระบบของตนเองสามารถทำงานได้ดี (โดยทดสอบบนโลก ยังไม่ต้องยิงขึ้นไปในอวกาศ) การแข่งขันนี้จะถือเป็นอีกก้าวสำคัญในวงการหุ่นยนต์สำรวจอวกาศของเอกชน

นอกจากการแข่งขัน 2 รายการแล้ว เราคงได้เห็นความก้าวหน้าในเทคโยโลยหุ่นยนต์อีกมากมายที่จะนำหุ่นยนต์ออกจากห้องทดลองและโรงงานอุตสาหกรรมมาสู่ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ธุรกิจหุ่นยนต์ที่กำลังได้รับความสนใจจะมีบริษัทเล็กเกิดใหม่อีกมาก และบริษัทใหญ่ก็จะเข้าควบกิจการรายเล็กเกิดใหม่ที่โดดเด่นอีกหลายราย

สุดท้ายก็ขอสวัสดีปีใหม่ ขอให้ทุกคนสนุกกับหุ่นยนต์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีหน้าครับ 😀

LINE it!