ยุครุ่งเรืองของหุ่นยนต์ : บทบาทใหม่ของเทคโนโลยี

new-role-technology

*** บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 8 บทความจาก นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทในโลกนี้จากบทประพันธ์และภาพยนต์เป็นตัวแทนของความหวังและความน่ากลัวของเทคโนโลยี (เช่น “Metropolis”, “I, Robot”, “WALL-E”, “Terminator”) แต่ในโลกความเป็นจริง หุ่นยนต์ทำได้ค่อนข้างน่าผิดหวัง ถึงแม้จะมีหุ่นยนต์ที่ช่วยมนุษย์ในงานที่มนุษย์ทำไม่ได้ เช่น สำรวจดาวอังคาร หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่อยากทำ เช่น ทำความสะอาดบ้าน แต่หุ่นยนต์ที่จะออกมามีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ออกนอกพื้นที่ควบคุมความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมยังทำได้ยากมาก แต่มันกำลังจะเปลี่ยนไป 3 สิ่งหลัก ๆ ที่กำลังทำให้หุ่นยนต์พัฒนาได้ก้าวกระโดด ได้แก่

  • การวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ทำได้ง่ายขึ้น เริ่มมีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้การพัฒนาต่อยอดเป็นไปได้ง่ายขึ้น
  • มีการลงทุนในหุ่นยนต์มากขึ้น ข่าวใหญ่ในปี พ.ศ. 2556 หนีไม่พ้นกรณี Google ซื้อ 8 บริษัทหุ่นยนต์ หรือก่อนหน้านั้นก็มีกรณี Amazon ซื้อ Kiva Systems และประกาศว่ามีแผนจะนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ส่งของ
  • จินตนาการที่ไม่มีขีดจำกัด เริ่มมีผู้เห็นความเป็นไปได้ในการนำหุ่นยนต์มาทำสิ่งแปลกใหม่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาพยนต์เรื่อง Gravity จะถ่ายทำไม่ได้เลยหากไม่ได้ความช่วยเหลือจากแขนหุ่นยนต์ การนำหุ่นยนต์มาใช้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้อากาศยานไร้คนขับบินสำรวจไร่นา ถ่ายภาพข่าวจากทางอากาศ เป็นต้น

คนจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการมาของหุ่นยนต์ อย่างไรก็ตาม แรงงานบางประเภทจะถูกลดบทบาทลงโดยหุ่นยนต์ เช่น Aetheon’s Tug หุ่นยนต์ขนส่งของในโรงพยาบาล Kiva หุ่นยนต์ขนส่งของในโกดัง หรือรถไร้คนขับอาจจะลดบทบาทของคนขับรถลง เหมือนแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีบทบาทมากในอดีต แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2% ของการจ้างงานในประเทศที่ร่ำรวย แรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันก็อาจจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ แรงงานเหล่านั้นอาจถูกโยกย้ายไปทำหน้าที่อื่น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์จะเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันทั้งในทางบวกและทางลบ

หุ่นยนต์บางตัวจะถูกกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยที่มนุษย์ไม่ได้มองมันว่าเป็นหุ่นยนต์อีกต่อไป เช่น รถที่ขับเคลื่อนเองได้ อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านที่ทำงานเองได้ หรือรถขนส่งของในโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ได้เอง ในขณะที่หุ่นยนต์บางตัวที่ทำงานเคียงข้างกับมนุษย์จะโดดเด่น เช่น Baxter หุ่นยนต์ช่วยงานในโรงงานอุตสาหกรรม Paro หุ่นยนต์แมวน้ำเพื่อนผู้สูงอายุ

ยิ่งหุ่นยนต์มีหน้าที่โดดเด่นมาเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการทำงานของมันมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ในกองทัพควรจะมีบทบาทมากขนาดไหน (ในสหรัฐอเมริกามีการถกเถียงกันว่านักบินอากาศยานไร้คนขับควรได้รับเหรียญรางวัลหรือไม่) อำนาจการตัดสินใจสุดท้ายควรเป็นของหุ่นยนต์หรือมนุษย์

ภาพและที่มา The Economist : Rise of the Robots – New roles for technology

LINE it!
Loading Facebook Comments ...
Loading Disqus Comments ...