กรวยหุ่นยนต์ เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

traffic-cone-robot

ช่วงนี้หลายเพจได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกรวยในมุมมองที่เกี่ยวกับเนื้อหาในเพจตนเอง ก็เลยทำให้นึกขึ้นได้ว่าเคยเห็นกรวยหุ่นยนต์ในรายการของ Discovery Channel เลยไปหาข้อมูลมานำเสนอให้อ่านกัน

ในปี พ.ศ. 2547 นักวิจัยจาก University of Nebraska-Lincoln ได้พัฒนากรวยหุ่นยนต์ที่วิ่งไปมาบนท้องถนนเพื่อเปิด ปิดช่องทาง กั้นชะลอความเร็วรถ ซึ่งทำได้เร็วและปลอดภัยกว่าให้มนุษย์ทำเสียอีก และกรมขนส่งคาดการว่ากรวยหุ่นยนต์นี้จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาทางจราจรไปได้ถึงปีละ 3 พันกว่าล้านบาทเลยทีเดียว

กรวยหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อ 2 ล้อ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ทำงานเป็นทีม สื่อสารไร้สายผ่านคลื่นวิทยุ โดยถูกปล่อยจากรถบรรทุกที่มีห้องควบคุมอยู่ ในแต่ละทีมจะมีกรวยจ่าฝูง ซึ่งติดตั้ง GPS ไว้ระบุตะแหน่งตัวเอง ผู้ควบคุมบนรถจะสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์ว่าให้กรวยไปกั้นถนนบริเวณใด จากนั้นกรวยจ่าฝูงจะนำทีมไปยังตำแหน่งนั้น ในส่วนของกรวยลูกฝูงที่ไม่มี GPS จะรับคำสั่งจากกรวยจ่าฝูงอีกทีว่าให้เคลื่อนที่ไปตำแหน่งใด และใช้วิธีนับรอบล้อ (dead reckoning) เพื่อประมาณตำแหน่งตัวเอง กรวยจ่าฝูงยังมีเซนเซอร์ LIDAR เพื่อสแกนตำแหน่งของกรวยลูกฝูงเพื่อตรวจสอบตำแหน่งซ้ำอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่ตรงก็จะส่งคำสั่งแก้ไป หรือถ้าหากพบว่ากรวยลูกฝูงตัวใดมีปัญหา ขยับไม่เข้าตำแหน่งซักที กรวยจ่าฝูงก็จะไปดันกรวยลูกฝูงตัวนั้นให้หลบออกไปข้างทางเพื่อความปลอดภัย

ประโยชน์ของกรวยจราจรหุ่นยนต์คือ ช่วยกั้นกำหนดทิศทาง ความเร็วของรถ โดยทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำพอ ๆ กับมนุษย์ แถมยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย กรวยหุ่นยนต์ต้นแบบใช้ค่าพัฒนาตัวละ 2 หมื่นกว่าบาท แต่ผู้พัฒนาคาดว่าน่าจะลดต้นทุนได้เหลือประมาณตัวละ 6 พันกว่าบาทเท่านั้น

โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่ทราบว่าได้ดำเนินการต่อหรือไม่อย่างไร ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย

ภาพ NBC News
ที่มา NewScientist

LINE it!