เตรียมพบกับความมันส์อีกครั้งใน DARPA Robotics Challenge Final

atlas-drc-final

ปลายปีที่แล้ว DARPA ได้จัดการแข่งขัน Robotics Challenge Trial 2013 มีหลายทีมทำผลงานได้ดีมาก มากกว่าที่ DARPA คาดไว้ DARPA จึงจะเพิ่มความโหดในรอบชิงชนะเลิศขึ้นอีก แต่ก็ให้เวลานักพัฒนาทั้งหลายมีเวลาพัฒนามากขึ้น และเลื่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศออกไปจากเดิมจะจัดสิ้นปีนี้เป็นกลางปีหน้า

รายละเอียดการแข่งขันมีดังนี้

  • การแข่งขันจะจัดขึ้นที่ Fairplex เมือง Pomona รัฐ California (Trial 2013 จัดที่ Miami)
  • การแข่งขันจะจัดขึ้นในวันที่ 5 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558
  • รางวัล 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (ประมาณ 65 ล้านบาท) ตัดสินโดยความสำเร็จในภารกิจเป็นหลัก หากทำได้พอ ๆ กันจะตัดสินที่ความเร็วในการปฎิบัติภารกิจ
  • 11 ทีมจากรอบ Trial ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งรอบ Final
  • ทีมที่ใช้งบประมาณตัวเองในการแข่งขันยังสามารถสมัครเข้าร่วมรอบ Final ได้ DARPA คาดหวังว่าจะมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 24 ทีมขึ้นไป รัฐบาลจากหลายประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้สนับสนุนทีมจากประเทศตนเองในการเข้าแข่งขัน

ภารกิจที่หุ่นยนต์ต้องทำ

  • มีทั้งหมด 8 ภารกิจ รายละเอียดยังไม่เปิดเผย แต่มี 1 ภารกิจที่ไม่มีการบอกล่วงหน้า ผู้เข้าแข่งขันจะไปเจอที่งานแข่งเลย
  • 8 ภารกิจจะรวมอยู่ในภารกิจใหญ่ซึ่งหุ่นยนต์ต้องทำต่อเนื่องกันไป (Trial 2013 จะแข่งแยกกันในแต่ละภารกิจ) ภารกิจแรกจะเป็นการขับรถ ถ้าทีมใดจะไม่เข้าร่วมภารกิจนี้ต้องให้หุ่นยนต์เดินไปยังภารกิจที่ 2 เอง
  • ในการแข่งขันจะมีหุ่นยนต์ 3 – 4 ตัวปฎิบัติภารกิจพร้อม ๆ กันในสนามแข่ง
  • ภารกิจทั้งหมดน่าจะทำเสร็จใน 1 ชั่วโมง DARPA หวังว่าหุ่นยนต์จะทำงานได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าเมื่อเทียบกับรอบ Trial
  • แต่ละทีมจะมีโอกาสปฎิบัติภารกิจ 2 รอบ และนำคะแนนรอบที่ดีที่สุดมาใช้

หุ่นยนต์และสภาพแวดล้อมการแข่งขัน

  • หุ่นยนต์ต้องใช้พลังงานในตัวเอง ใช้การสื่อสารแบบไร้สาย และไม่มีสายห้อยป้องกันการล้ม (Trial 2013 อนุญาตให้ต่อสายพลังงานจากภายนอกได้ ใช้การสื่อสารผ่านทางสายได้ และมีสายห้อยคล้องหุ่นยนต์ไว้ป้องกันอันตรายจากการล้ม)
  • การสื่อสารจะถูกทำให้มีสภาพแย่ลงกว่ารอบ Trial เพื่อจำลองการทำงานในภารกิจกู้ภัยจริง ๆ จะมีช่วงที่การสื่อสารกับหุ่นยนต์ถูกตัดขาด ช่วงที่สัญญาณมีความล่าช้ามากเกินกว่าจะบังคับหุ่นยนต์ด้วยมือได้ หุ่นยนต์ต้องทำงานต่อไปได้เองโดยอัตโนมัติ หากรอสัญญาณกลับมาดีจะเสียเวลามากเกินกว่าจะทำภารกิจได้ทัน
  • ถึงแม้การสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมกับหุ่นยนต์จะถูกทำให้แย่ แต่การติดต่อกับอินเทอร์เน็ตจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่ DARPA คาดหวังว่าจะมีการใช้ cloud ในการช่วยหุ่นยนต์ทำงาน
  • หุ่นยนต์ ATLAS จะได้รับการปรับปรุง ให้ใช้พลังงานบนตัวหุ่นยนต์เอง และมีแขนใหม่ที่แข็งแรงขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหว (range of motion) ที่มากขึ้น

ข่าวใหญ่ (แต่ไม่ใหม่) อีกเรื่องคือทีม SCHAFT ที่ทำคะแนนเป็นอันดับ 1 ในการแข่งขันรอบ Trial ซึ่งถูก Google ซื้อไปจะถอนตัวออกจากการแข่งขันรอบ Final โดยมี 2 สาเหตุหลัก คือ Google ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับงานทางทหาร และต้องการทุ่มเทกับการพัฒนาหุ่นยนต์ออกมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ แต่ถึงกระนั้นก็คงไม่ทำให้การแข่งขันกร่อย เนื่องจากการแข่งขันรอบ Final จะมีอะไรแปลกใหม่มากขึ้นกว่ารอบ Trial มาก ฮาร์ดแวร์ที่ดีอาจจะไม่ชนะเสมอไป (SCHAFT มีฮาร์ดแวร์ที่ดีมาก มีส่วนให้ทำคะแนนในรอบคัดเลือกได้ดี) รอบ Final ต้องการหุ่นยนต์ที่ฉลาดขึ้น อัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งหลายทีมมีความสามารถในด้านนี้สูงมาก ทำให้การแข่งขันรอบ Final ยังคงมีความสูสีและน่าลุ้นระทึกอยู่

ภาพและที่มา IEEE Spectrum Automaton

 

LINE it!