ย้อนมองวงการหุ่นยนต์ปี ค.ศ. 2014

2014-in-review

ก่อนที่จะผ่านพ้นไปกับปี ค.ศ. 2014 เรามาย้อนดูเรื่องราวสำคัญและน่าสนใจในรอบปีที่ผ่านมากันหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวงการหุ่นยนต์

รถไร้คนขับยังคงเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รถไร้คนขับกลายเป็นเทคโนโลยีที่ปรากฎในข่าวเทคโนโลยีทั่วไป คนทั่วไปเริ่มคุ้นหูคุ้นตากันมากขึ้น และในปีนี้ก็ยังมีข่าวคราวมาให้ฮือฮากันเช่นเคย เริ่มด้วยความพยายามของ Google ที่จะตัดปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์ออกจากระบบโดยสิ้นเชิง โดยการสร้างต้นแบบรถไร้คนขับที่ไม่มีพวงมาลัยและคันเร่งเลย ในทางเทคนิคไม่ได้ติดปัญหาอะไร แต่ในทางกฎหมายนั้นไม่อนุญาตให้รถที่คนควบคุมไม่ได้วิ่งบนท้องถนน Google จึงต้องแก้ปัญหาโดยการเช่าพื้นที่ของ NASA เพื่อใช้ทดสอบรถรุ่นใหม่นี้

new-google-car
Google Car ใหม่ ไร้พวงมาลัยและคันเร่ง (ภาพจาก http://googleblog.blogspot.com/2014/05/just-press-go-designing-self-driving.html)

 

ฝั่งทางเอเชีย Baidu ที่ได้ชื่อว่าเป็น Google แห่งเมืองจีนที่กำลังเดินตามรอย Google ในการลงทุนและทดลองเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็หันมาพัฒนารถไร้คนขับบ้าง โดยร่วมมือกับ BMW

อีกข่าวที่ฮือฮาไม่น้อยคืองานเปิดตัว Tesla Model S P85D ตัวใหม่ ที่มีระบบ autopilot ใช้ GPS, radar, ultrasonic, กล้อง สามารถอ่านค่า speed limit แล้วปรับความเร็วตามได้ ถ้าอยากเปลี่ยนเลนก็แค่เปิดไฟเลี้ยว รถจะเปลี่ยนเลนให้เอง

ปิดท้ายข่าวรถไร้คนขับด้วยการสาธิต Audi RS 7 อัตโนมัติ ที่สนาม Hockenheim ซึ่งทำความเร็วสูงสุด 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าเป็นรถไร้คนขับที่เร็วที่สุดในโลก

หุ่นยนต์สำรวจอวกาศไปยังที่ที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน

To boldly go where no one has gone before คำพูดจาก Star Trek คงเป็นไม่ได้หากปราศจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพราะการสำรวจอวกาศใช้เวลานานและเสี่ยงต่ออันตรายสำหรับมนุษย์ ปีนี้หุ่นยนต์สำรวจอวกาศได้พาเราไปในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อนเมื่อ Philae ยานสำรวจพื้นผิวแยกตัวจากยาน Rossetta หลังจากที่ถูกส่งออกจากโลกไปตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และลงจอดบนดาวหาง 67P นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศที่มีการลงจอดบนดาวหาง ก่อนหน้านี้มีแต่การลงจอดบนดาวเคราะห์ โคจรรอบหรือพุ่งชนดาวหาง แต่การลงจอดก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว เมื่อฉมวกของ Philae ไม่สามารถยึดเกาะพื้นผิวได้ ทำให้ Philae กระดอน และลงจอดในเงามืดของหน้าผา ขณะนี้ Philae ไม่ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพียงพอต่อการใช้งานและต้องอยู่ในสภาวะจำศีล รอให้ได้รับแสงอาทิตย์เพียงพอเพื่อตื่นมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

อีกภารกิจที่คล้าย ๆ กันแต่เป็นของฝั่งเอเชียคือ Hayabusa 2 ที่เป็นภาคต่อของ Hayabusa ภารกิจของ Hayabusa 2 คือลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยและเก็บตัวอย่างกลับมายังโลก (162173) 1999 JU3 Hayabusa 2 ถูกส่งขึ้นไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะถึงดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายในปี พ.ศ. 2561 ลงจอดปี พ.ศ. 2562 และเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกในปี พ.ศ. 2563 (โครงการนี้มีนักวิจัยคนไทยร่วมอยู่ด้วย ไว้เราจะทำบทสัมภาษณ์มาลง ThaiRobotics ในโอกาสหน้า 🙂 )

Hayabusa 2 (ภาพจาก http://b612.jspec.jaxa.jp/hayabusa2/e/gallery_e.html)
Hayabusa 2 (ภาพจาก http://b612.jspec.jaxa.jp/hayabusa2/e/gallery_e.html)

 

กลับมาใกล้ ๆ โลกบ้าง หลังจากที่ X Prize ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีการเดินทางไปยังอวกาศให้สามารถทำได้โดยเอกชนจนสำเร็จมาแล้วกับ Ansari X Prize โดย Space Ship One ถือเป็นยานอวกาศเอกชนรายแรกที่เดินทางไปยังห้วงอวกาศได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ภารกิจใหม่ของ X Prize ที่สนับสนุนโดย Google จึงตั้งรางวัลให้เอกชนที่สามารถส่งยานสำรวจลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ เคลื่อนที่ 500 เมตร และส่งวิดีโอความคมชัดสูงกลับมายังโลกได้ ในโครงการ Google Lunar X Prize ในปีที่ผ่านมา มีการแข่งขันย่อย Milestone Prize เพื่อให้รางวัลกับทีมที่แสดงความสามารถทางเทคโนโลยีการลงจอด การเคลื่อนที่ และการถ่ายภาพ ที่มีศักยภาพจะทำภารกิจจริงได้สำเร็จ โดยทีมที่ได้รางวัลสำหรับเทคโนโลยีการเคลื่อนที่และการถ่ายภาพ ได้แก่ ทีม Astrobotic สำหรับภารกิจจริงเพื่อชิงรางวัลใหญ่นั้นได้ถูกเลื่อนเส้นตายจากวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ไปเป็น 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หากมีทีมใดทีมหนึ่งสามารถส่งแผนการดำเนินภารกิจได้ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2558

หุ่นยนต์นิ่มจะครองโลก

นับเป็นปีที่มีข่าวของหุ่นยนต์นิ่ม (soft robot) ออกมาเยอะพอสมควร หุ่นยนต์นิ่มจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหุ่นยนต์ต้องเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่ไม่ทราบหน้าตา รูปทรงมาก่อน เพราะหุ่นยนต์นิ่มสามารถปรับรูปทรงให้เข้ากับวัตถุที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ดี และออกแรงกระทำกระจายทั่วพื้นผิวได้อย่างนุ่มนวล ปีนี้ Wyss Institute for Biologically Inspired Engineering ห้องวิจัยที่มีผลงานด้านหุ่นยนต์นิ่มมากมายก็ทำการโอเพ่นซอร์สเทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างหุ่นยนต์นิ่ม นอกจากนี้ยังได้สปินออฟ Soft Robotics Inc. บริษัทสตาร์ตอัพที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์นิ่มไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นคอหุ่นยนต์ก็ได้รู้จักหุ่นยนต์นิ่มผ่านทางภาพยนต์เรื่อง Big Hero 6 ที่มี Baymax ตัวเอกเป็นหุ่นยนต์นิ่มนั่นเอง

baymax-big-hero6
Baymax (ภาพจาก http://mashable.com/2014/11/07/robot-arm-that-inspired-baymax/)

 

Deep learning กำลังมาแรง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าหุ่นยนต์จะมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นในอนาคต หุ่นยนต์จะต้องเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้คนไปโปรแกรมให้ทุกเรื่อง การเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) จึงเป็นศาสตร์มีบทบาทมาก ในยุคที่มีข้อมูลมากมายเกิดขึ้น (big data) เทคนิคหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมาก คือ deep learning ซึ่งจะวิเคราะห์องค์ประกอบของข้อมูลตัวอย่างแบบหลายชั้นเพื่อหารูปแบบของสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ เช่น หากต้องการหาหน้าคนในรูปก็จะต้องหาส่วนที่มีตา 2 ตา มีหูอยู่ข้างตา มีจมูก มีปาก หรือหาหน้าแมวจะต้องหาที่หูอยู่เหนือตา ขั้นที่ลึกลงไปคือ หาส่วนประกอบย่อย ๆ เหล่านั้น ไดแก่ ตา หู จมูก ปาก ตาประกอบด้วยข้อมูลภาพที่เป็นวงกลม หูประกอบด้วยเส้นที่บรรจบกันเป็นมุม ขั้นที่ลึกลงไปอีกคือ วงกลมคือกลุ่มของจุดสีที่มีสีเดียวกันเกาะกลุ่มรวมกัน เส้นคือกลุ่มของจุดสีที่เรียงกันไปในแนวเดียวกัน เป็นต้น

ภาพจาก http://droidsans.com/deep-learning-brain-behind-smartphone
ตัวอย่างการวิเคราะห์องค์ประกอบข้อมูลแบบหลายชั้น (ภาพจาก http://droidsans.com/deep-learning-brain-behind-smartphone)

 

เริ่มด้วย Google ซื้อบริษัท DeepMind สัญชาติอังกฤษ เสริมทัพบริษัทหุ่นยนต์ที่เคยกว้านซื้อไปก่อนเมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน Baidu ก็ชิงตัว Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญด้าน deep learning จาก Google ไปร่วมทีมวิจัยของตนเอง และได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนา Deep Speech ระบบจดจำเสียงที่อ้างว่าทำงานได้ถูกต้องแม่นยำกว่าบริการของค่ายอื่น ๆ

 

แล้วเราจะได้เห็นอะไรในปีหน้า

DARPA Robotics Challenge Finals

เดิมที Robotics Challenge รอบชิงชนะเลิศจะแข่งในสิ้นที พ.ศ. 2557 นี้ แต่เนื่องจากการแข่งขันรอบแรกมีทีมที่ทำผลงานได้ดีมากกว่าที่คาดไว้ DARPA จึงจะปรับโจทย์รอบชิงชนะเลิศให้ยากขึ้นอีก แต่ก็ให้เวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้น โดยจะแข่งในวันที่ 5 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เตรียมลุ้นกันได้เลย

Google Lunar X Prize

อย่างที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้วว่าเส้นตายการแข่งขัน Google Lunar X Prize ถูกยืดจากปลายปี พ.ศ. 2558 ไปเป็นปี พ.ศ. 2559 ก็ต่อเมื่อมีอย่างน้อย 1 ทีมสามารถส่งแผนภารกิจได้ในสิ้นปีหน้า ต้องมารอลุ้นกันว่าปีหน้าจะมีทีมใดส่งยานสำรวจออกไปทำภารกิจชิงรางวัลใหญ่เลยหรือไม่ หรือจะแค่ส่งแผนภารกิจ

เยือนดาวพลูโต

ดาวพลูโตเคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยจักรวาลของเรา แต่ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ อีก 8 ดวงอย่างมาก ในที่สุดจึงถูกลดตำแหน่งเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ ดาวพลูโตอยู่ไกลจากโลกมาก นักวิทยาศาสตร์จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับดาวพลูโตน้อย และยังไม่มีมียานสำรวจลำใดได้เข้าไปสำรวจใกล้ ๆ ดาวพลูโตเลย จนกระทั่งยานสำรวจในโครงการ New Horizons ถูกส่งออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 และจะเดินทางถึงดาวพลูโตในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2558 นี่เอง เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ข้อมูลการสำรวจดาวพลูโตอย่างใกล้ชิด เราจะได้รู้จักดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ให้มากขึ้น

New Horizons (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/New_Horizons)
New Horizons (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/New_Horizons)

 

ปี พ.ศ. 2557 นี้ก็เป็นปีที่เยี่ยมยอดของวงการหุ่นยนต์อีกปีหนึ่ง และปีหน้าก็คงเป็นปีที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า และขอให้เป็นปีที่ยอดเยี่ยมสำหรับเพื่อน ๆ ผู้ติดตาม ThaiRobotics ทุกท่านครับ สวัสดีปีใหม่ครับ 🙂

LINE it!