การบรรยาย Interactive Robots as New Information Media โดย Hiroshi Ishiguro

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมาฮิโรชิ อิชิกุโระ (Hiroshi Ishiguro) ศาสตราจารย์ประจำ Osaka University ผู้ที่มีผลงานในด้านการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ (Humanoid Robot) ได้มาบรรยายพิเศษที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง (บทความครั้งก่อน) ในหัวข้อ Interactive Robots as New Information Media

DSCF1126
ศาสตราจารย์ฮิโรชิ อิชิกุโระ และ ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยาย

ศาสตราจารย์อิชิกุโระได้แสดงความเชื่อมั่นว่า สังคมเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมหุ่นยนต์อย่างแน่นอน ในอนาคตอันใกล้จะมีการนำหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์มาใช้งานมากขึ้น ในตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ แต่ในอนาคตมนุษย์เราก็จะมีหุ่นยนต์ส่วนตัวไว้ใช้งานเช่นกัน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หุ่นยนต์ส่วนตัวจะเกิดขึ้นได้ คือ หุ่นยนต์ต้องมีความสามารถสูง ทำงานได้จริง แต่ราคาถูก ถ้าให้สังเกตุเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน (สมาร์ทโฟนก็ถือเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรูปแบบหนึ่ง) แนวทางการเจริญเติบโตก็ไม่แตกต่างกันมาก และถ้าหากว่าเวลานั้นมาถึงจริง อาชีพหนึ่งที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากก็คือ โปรแกรมเมอร์หุ่นยนต์ หรือ คนที่เขียนโปรแกรมให้กับหุ่นยนต์นั่นเอง

คำถามหนึ่งที่มาพร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคหนยนต์ส่วนบุคคลคือ “ทำไมเราจึงยอมรับหุ่นยนต์หน้าตาเหมือนมนุษย์” ให้เข้ามาอยู่ในสังคมมนุษย์ ศาสตราจารย์อิชิกุโระได้ให้คำตอบไว้ว่า ความคุ้นเคย ความที่มนุษย์เห็นอะไรที่หน้าตาเหมือนมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์เราจะให้การยอมรับโดยทันที การสร้างหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ก็คือการศึกษามนุษย์ด้วยเช่นกัน ทำให้เราเข้าใจมนุษย์เราเองมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นหนักแต่เพียงรูปลักษณ์หน้าตา แต่การจะทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ได้จริง ก็ต้องศึกษาถึงภาวะอารมณ์และจิตใจด้วย ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ เราพิจารณาหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์จากประเด็นเหล่านี้

  1. การเลียนแบบกลไกการเคลื่อนไหวของมนุษย์ (Biomimetic Mechanism)
  2. การเรียนรู้และพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ (Learning & Development of the software)
  3. บทสนทนา (Conversation)
  4. การรับรู้ (Perception)
  5. การเคลื่อนไหว (Movement)
  6. รูปลักษณ์ภายนอก (Appearance)

DSCF1119

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์อย่างมากคือ การเคลื่อนไหวในทุก ๆ ชั่วขณะ หุ่นยนต์ที่แข็งทื่อตลอดเวลาก็คือหุ่นยนต์ที่ใครก็รู้ว่าเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่เหมือนมนุษย์ แต่หุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์จะต้องมีการเคลื่อนไหวจากใต้จิตสำนึก (Subconscious movement) เช่น กระพริบตาเรื่อย ๆ มองไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แย้มมุมปาก เอียงศีรษะ ฯลฯ และ การเคลื่อนไหวแบบโต้ตอบ (Reactive Movement) เช่น เมื่อคนถามคำถาม หุ่นยนต์ก็จะตอบกลับได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบโต้ตอบนี้จะมีความซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากการโต้ตอบแต่ละครั้งจะมีภาวะอารมณ์ (mental state) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ การโต้ตอบที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล ก็มาจากการรับรู้ที่ถูกต้อง การศึกษาด้านความคิดของมนุษย์ (cognitive science) ซึ่งครอบคลุมถึงหัวข้อทางด้านจิตวิทยา (psychology) ประสาทวิทยา (neuroscience) และสมองของมนุษย์ (brain science) ก็จะช่วยให้เราพัฒนาหุ่นยนต์ได้เหมือนมนุษย์มากยิ่งขึ้น

หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ หรือ Android หรือ Humanoid Robot เป็นหุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์โดยตรง (Interactive Robot) เราอาจใช้ Android เป็นหุ่นยนต์เก็บข้อมูลจดจำการแสดง โดยเก็บข้อมูลอากัปกิริยา การแสดงออกของนักแสดงชื่อดัง แล้วถ่ายทอดออกมา เมื่อนักแสดงชื่อดังเหล่านั้นไม่ได้มีชิวิตอยู่บนโลกแล้ว แต่ตัวตนของเขายังถูกบันทึกลงหุ่นยนต์ตัวนั้นไปอีกนานเท่านาน เราจะมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นคนขายของในร้านค้า เป็นพนักงานต้อนรับ ทำอาหาร เป็นนักแสดงจริง ๆ หรือ หุ่นยนต์ที่ส่งความเป็นตัวตนของมนุษย์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (Gemanoid : Teleoperated android of the existing person) โดยส่งทั้งเสียง และการเคลื่อนไหว

Android อาจจะไม่ต้องเหมือนมนุษย์ 100% ก็ได้ แต่เป็นแบบลดรูปลง (minimal)  ปัจจัยหลักคือ รูปลักษณ์ที่ส่งผลต่อจินตนาการของมนุษย์ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า มนุษย์เห็นแล้วเกิดความรู้สึกว่าอีกฝั่งมีมนุษย์ปรากฏอยู่ และรู้สึกยอมรับเป็นมิตรกับมันได้ภายใน 5 นาที หุ่นยนต์ HUGVIE เป็นหนึ่งในนั้น

การศึกษาวิจัยถัดไปของ ศาสตราจารย์อิชิกุโระ คือ การสร้างหุ่นยนต์ที่มีจิตใจเฉกเช่นมนุษย์จริง ๆ รอชมผลงานครับ ต้องมีละครเวทีที่ใช้หุ่นยนต์ที่ยิ่งเหมือนมนุษย์มากเข้าไปอีกมาแสดงแน่นอน

LINE it!