ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าฟุกุชิม่าระเบิดที่ญี่ปุ่น ทุกคนยังคงจำกันได้ว่าไม่มีหุ่นยนต์สัญชาติญี่ปุ่นตัวใดเลยที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ คำถามหนึ่งคือ ทำไมฮอนด้าไม่ส่ง ASIMO เข้าไปปฏิบัติภารกิจนี้ คำตอบง่าย ๆ ที่ฮอนด้าตอบกลับมาคือ ASIMO ไม่ได้มีความสามารถในการจัดการกับสภาพแวดล้อมสุดโหดแบบนี้ ASIMO ไม่เคยออกไปทำหน้าที่ผจญภัย ประสบกับภาวะแผ่นดินไหว ระเบิด เอเลี่ยนบุกโลก หรือเหตุการณ์วุ่นวายอื่น ๆ แต่กลับถูกออกแบบมาเพียงเพื่อใช้ในสำนักงานเท่านั้น ฮอนด้าเองก็รู้เช่นกันถึงข้อจำกัดในความสามารถของ ASIMO ที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น และนี่คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ฮอนด้าเองกำลังพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาวะวิกฤตโดยเฉพาะ
ในงานประชุมวิชาการ IEEE/RSJ International Conference on Intelligent Robots and Systems (IROS) ปีนี้ วิศวกรจากฮอนด้านำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจมาก 2 ฉบับ ได้แก่
- Dynamic Gait Transition Between Bipedal and Quadrupedal Locomotion
การเปลี่ยนท่าทางการเดินระหว่างเดินสองขากับเดินสี่ขา - Robust Vertical Ladder Climbing and Transitioning Between Ladder and Catwalk for Humanoid Robots
การปีนบันไดลิงอย่างมั่นคง และการเปลี่ยนท่าทางระหว่างการเดินบนแคตวอล์กไปยังไต่บันไดลง สำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์




ค่อนข้างชัดเจนว่า ฮอนด้ากำลังทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มใหม่แต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ หุ่นยนต์รุ่นทดลองก็ยังไม่มีชื่อเรียกแต่อย่างใด ฮอนด้าได้แต่เพียงบอกว่ามันเป็น “หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์รุ่นทดลอง” เท่านั้น ตารางด้านล่างเป็นคุณสมบัติบางส่วนของหุ่นยนต์ตัวนี้เปรียบเทียบกับหุ่นยนต์ ASIMO
หุ่นยนต์รุ่นทดลองตัวนี้ ถือว่ามีคุณสมบัติแตกต่างจาก ASIMO หลายอย่างอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังน่าเชื่อว่าต้องมีพื้นฐานหลายอย่างมาจาก ASIMO แน่ ๆ
หากเปรียบเทียบกับ DARPA Robotics Challenge ที่ผ่านมาครั้งล่าสุด มีภารกิจหนึ่งที่หุ่นยนต์จากทุกทีมแข่งขันต้องผ่าน คือ การเดินปีนบันไดชัน ๆ แต่การปืนบันไดลิงของหุ่นยนต์จากฮอนด้าตัวนี้ เท่าที่ทราบมา นี่ถือเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว งานแบบนี้ถือว่าอยู่ในระดับยากมาก เพราะบันไดเองก็ลื่น เกิดการลื่นไถลได้ตลอดเวลา ตัวหุ่นยนต์อาจหมุนได้ มีความผิดพลาดเกี่ยวกับตำแหน่งมากมายทำให้การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์จังหวะถัดไปผิดไปจากเส้นทางที่คำนวณเอาไว้จนอาจทำให้หุ่นยนต์พลัดตกลงมาได้
จากความคืบหน้าของโครงการพัฒนานี้ที่วิศวกรของฮอนด้าได้นำเสนอออกมา ไม่น่าแปลกใจเลยถ้าจะบอกว่า ฮอนด้าได้เริ่มต้นพัฒนาโครงการทันทีนับตั้งแต่ช่วงที่มีวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าฟุกุชิม่า แต่ปิดเป็นความลับเอาไว้ และต่อจากนี้ไป เราคงได้ยินข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหุ่นยนต์รุ่นใหม่นี้ออกมาอีกแน่นอน เพราะฮอนด้าอนุญาตให้นักวิจัยของตัวเองนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับโลกครั้งนี้เป็นครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว

ภาพและที่มา – IEEE Spectrum


sompol
