พ.ศ. 2558 ปีที่วงการหุ่นยนต์เข้มข้นมาก

กำลังจะหมดไปแล้วสำหรับปี พ.ศ. 2558 เป็นอีกปีที่เข้มข้นในวงการหุ่นยนต์ มาดูกันว่าปีที่ผ่านมาวงการหุ่นยนต์เข้มข้นกันขนาดไหน

รุ่งอรุณแห่งยุค social robot

social robot หรือหุ่นยนต์ทางสังคม เป็นหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่บริการ (service robot) แต่ไม่ได้บริการด้านกายภาพ เช่น ยกของ ขนส่งสินค้า แต่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด มิตรคู่เรือน คอยช่วยให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลมากกว่า ถึงแม้ social robot จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในอดีตด้วยความสามารถของเทคโนโลยี ต้นทุนในการพัฒนา และประโยชน์ในการนำไปใช้ยังจำกัด ทำให้ social robot ไม่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น Autom หุ่นยนต์โค้ชเพื่อการดูแลสุขภาพ ล่าสุดก็ต้องปิดตัวไป แต่ปีนี้มี social robot หลายตัวที่ได้รับความนิยมมากถึงขนาดผลิตขายกันไม่ทันเลยทีเดียว

เริ่มที่ Jibo หุ่นยนต์ทางสังคมที่จะมาเป็นมิตรคู่บ้าน ผลงานจาก Cynthia Breazeal เจ้าแม่วงการ social robot ที่ระดมทุนได้อย่างถล่มทลายผ่านทาง crowdfunding ถึงแม้จะยังไม่วางจำหน่าย แต่ก็ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ผู้คนสนใจอยากจับจองเป็นเจ้าของจนได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนอีกหลายรายและพร้อมจำหน่ายในปีหน้า

ทางด้านญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อด้านหุ่นยนต์ก็ไม่ยอมน้อยหน้าฝั่งสหรัฐฯ โดยทาง SoftBank (ทื่เข้าซื้อ Aldebaran บริษัทหุ่นยนต์จากฝรั่งเศส) ได้เริ่มจำหน่าย Pepper หุ่นยนต์มิตรคู่บ้านที่ตัวใหญ่กว่า เคลื่อนไหวไปมา ทำท่าทางได้มากกว่า Jibo

รูปแบบการทำตลาดของ Pepper คือ ตัวหุ่นยนต์ราคาไม่สูงนัก แต่มีค่าบริการรายเดือน (คล้ายกับรูปแบบการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในต่างประเทศ) Pepper ได้รับความสนใจสูงมาก ขายหมด 1,000 ตัวใน 1 นาทีที่เริ่มทำการจำหน่าย และใน 6 เดือนถัดมา Softbank ก็เปิดขายอีกเดือนละ 1,000 ตัว ก็หมดอย่างรวดเร็วอีกเช่นกัน นอกจากจะขายให้ผู้ใช้ตามบ้านแล้ว SoftBank ยังมี Pepper for business สำหรับลูกค้าองค์กรที่สามารถนำ Pepper ไปใช้ในธุรกิจด้วย ตัวอย่างเช่น เนสท์เล่

ตามรอยรุ่นพี่อย่าง Aldebaran อีกหนึ่งสตาร์ตอัพสัญชาติฝรั่งเศสอีกหนึ่งชื่อ Blue Frog Robotics ก็ระดมทุนได้ถล่มทลายกับ Buddy หุ่นยนต์มิตรคู่บ้านอีกหนึ่งตัว

ปีนี้เลยถือว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งยุค social robot จริง ๆ ยังไงก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าหุ่นยนต์เหล่านี้จะทำงานได้ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ ผู้คนจะชื่นชอบและหลงรักหุ่นยนต์พวกนี้ขนาดไหน social robot จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราจริงจังตามหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านได้หรือไม่

การแข่งขันหุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมจริงอย่างสุดโหด

แต่ก่อน เมื่อเซนเซอร์และกำลังประมวลผลยังมีข้อจำกัดอยู่มาก การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อทดสอบความสามารถหุ่นยนต์ในด้านต่าง ๆ มักจะทำในสภาพแวดล้อมจำลอง เพื่อลดความยากที่หุ่นยนต์จะต้องเจอ เช่น การแข่งขันปัญญาประดิษฐ์ก็มักจะลดความซับซ้อนด้านการรับรู้ทางภาพโดยให้ตรวจจับเฉพาะวัตถุที่มีรูปทรงเรขาคณิต มีสีสด ๆ ตามที่กำหนดไว้แล้ว แต่เมื่อเซนเซอร์ต่าง ๆ พัฒนาไปมากขึ้น การคำนวณอันซับซ้อนสามารถทำบนคอมพิวเตอร์แบบกลุ่มเมฆ (cloud computing) ได้ทำให้ข้อจำกัดของหุ่นยนต์เริ่มถูกทำลายลงเรื่อย ๆ การแข่งขันเพื่อทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์จึงเริ่มทำในสภาพแวดล้อมจริง ไม่มีการลดทอนความซับซ้อนลงมา (หรือลดลงมาไม่มาก)

เริ่มด้วย Picking Challenge การแข่งขันหุ่นยนต์หยิบสินค้าในคลังสินค้า ซึ่งสนับสนุนโดย Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ สินค้าที่ต้องหยิบมีความแตกต่างทั้งรูปทรง สีสัน หยิบจากชั้นวางสินค้าจริง ๆ เทคโนโลยีจากการแข่งขันนี้จะมีประโยชน์กับระบบการจัดส่งสินค้าให้ Amazon อย่างมากเลยทีเดียว

ถัดมาใกล้ ๆ กันคือ DARPA Robotics Challenge การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยที่ท้าทายความสามารถของระบบหุ่นยนต์มาก ๆ ได้รับแรงผลักดันจากอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ การแข่งขันมีความท้าทายทั้งด้านตัวหุ่นยนต์เองที่ต้องทำภารกิจยาก ๆ มากมาย และยังมีระบบควบคุมที่ทั้งผู้ควบคุมและหุ่นยนต์ต้องร่วมทำงานประสานกัน เพราะในสถานการณ์จริงอาจมีปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมและตัวหุ่นยนต์ การแข่งขันครั้งนี้ได้ผลักดันวิทยาการหุ่นยนต์ไปสุดขอบอีกครั้งหนึ่ง และในอุบัติภัยครั้งต่อ ๆ ไปที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์เข้าไปทำงานได้ยาก เราน่าจะได้เห็นหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ทางฝั่งยุโรปก็มีการแข่งขันคล้าย ๆ กัน คือ euRathlon แต่แนวความคิดต่างกันออกไป ตรงที่ไม่เน้นหุ่นยนต์ที่มีความสามารถสูงเพียงตัวเดียว แต่อาศัยหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบที่มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันหลายตัวมาร่วมทีมกันทำภารกิจกู้ภัย

อีกหนึ่งความท้าทายสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์คือ Naturipe : The Blue Challenge การแข่งขันพัฒนาหุ่นยนต์เก็บบลูเบอร์รี่ ซึ่งถือว่ามีความท้าทายมากทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เนื่องจากลูกเบอร์รี่มีขนาดเล็กและบอบบาง ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเก็บ และยังสุกไม่พร้อมกันอีก หุ่นยนต์ต้องเลือกเก็บให้ถูกลูก ในปีนี้มีการรับข้อเสนอโครงการเพื่อท้าชิงเงินรางวัล และปีหน้าจึงจะมีการประกาศผู้เข้ารอบเพื่อรับเงินทุนพัฒนาต่อไป

ถึงแม้มนุษย์เราจะส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดาวดวงอื่นได้แล้ว แต่มหาสมุทรบนโลกนี้ยังถูกสำรวจน้อยมาก XPRIZE รายการใหม่ Shell Ocean Discovery จึงท้าทายนักพัฒนาหุ่นยนต์ทั้งหลายในการพัฒนายานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติเพื่อสำรวจ ทำแผนที่ความละเอียดสูงใต้ผิวน้ำลึก 4 กิโลเมตร ความท้าท้ายของภารกิจนี้มีตั้งแต่สภาพแวดล้อมอันสุดโหด แรงดันน้ำมหาศาล การนำทางในพื้นที่อันมืดมิดและไม่มีระบบระบุพิกัดอย่างที่เราใช้ GPS กันบนพื้นโลก เทคโนโลยีเซนเซอร์และแหล่งพลังงานที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในปัจจุบัน

หุ่นยนต์รุกคืบยึดยานพาหนะทุกรูปแบบ

สำหรับวงการหุ่นยนต์แล้ว เทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับก็คือหุ่นยนต์ดี ๆ นั่นเอง ระบบอัตโนมัติควบคุมยานพาหนะได้รวดเร็ว แม่นยำ ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที และไม่เหนื่อยล้า เรียกว่าได้เปรียบผู้ขับขี่ที่เป็นมนุษย์ในแทบทุกด้าน เราจึงได้เห็นเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับเข้ามามีบทบาทในโลกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ทุกคนคงเห็นกันชัดเจนแล้วว่าน่านฟ้าถูกอากาศยานไร้นักบิน หรือ โดรน ยึดครองไปแล้ว โดรนถูกใช้งานทางทหารมานานแล้ว แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความสามารถมากขึ้นในราคาที่ถูกลง ใคร ๆ ก็มีโดรนไว้บินเล่นกันได้หมด บินกันเยอะมากจนเริ่มเป็นอันตราย เป็นภัยต่อความมั่นคง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโดรนตกในไวท์เฮ้าส์ โดรนบินเฉียดเครื่องบินพาณิชย์ ล่าสุดก็เกือบตกใส่นักสกี จนทำให้ต้องมีการออกมาตรการควบคุมการบินอากาศยานไร้นักบินเหล่านี้ และผู้ที่จะบินโดรนต้องมีการลงทะเบียนก่อน

ในด้านประโยชน์เชิงพาณิชย์ การบินส่งสินค้าเป็นการใช้งานที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจและเริ่มทดสอบกันเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Amazon, DHL หรือแม้กระทั่งไปรษณีย์สิงคโปร์ เป็นต้น

สำหรับบนพื้นดิน ปีนี้รถไร้คนขับจากหลากหลายบริษัทถูกทดสอบบนถนนจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Google Delphi Lexus กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ Mercedes-Benz และ Baidu ที่ร่วมมือกับ BMW เป็นต้น แต่ที่ดูน่าตื่นเต้นและเรียกความสนใจจากผู้คนทั่วไปได้มากเลยคือ เมื่อ Tesla Motors อัปเดตความสามารถ Autopilot ให้ Model S ที่จำหน่ายไปแล้วสามารถวิ่งอัตโนมัติบนทางหลวงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่รถอัตโนมัติเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ถึงกระนั้น กว่ารถไร้คนขับจะมาวิ่งกันอย่างแพร่หลายบนท้องถนนได้ ก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกมาก ไม่ว่าจะประเด็นด้านกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เป็นต้น

บนพื้นดินไม่ได้มีเพียงแค่รถยนต์บนท้องถนนเท่านั้นที่เริ่มวิ่งอัตโนมัติ บริษัท Starship Technologies กำลังทดสอบต้นแบบรถส่งสินค้าอัตโนมัติอยู่ด้วย โดยยกข้อดีเหนือการบินส่งสินค้าอยู่หลายประการ เช่น ต้นทุนในการขนส่งที่ต่ำกว่า ขนส่งสินค้าได้หนักกว่า มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่น้อยกว่า เป็นต้น

ยานพาหนะไร้คนขับบนฟ้าและบนดินเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามยานพาหนะอัตโนมัติบนผิวน้ำและใต้น้ำก็มีการใช้งานกันมานานแล้วเช่นกัน แต่เป็นงานเฉพาะทางซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสาร นั่นกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อ OpenROV Trident ระดมทุนผ่าน crowdfunding ได้ถล่มทลาย และตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นยานใต้น้ำที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ และจะเดินตามรอยโดรนที่ใคร ๆ ก็ซื้อมาเล่นกันอย่างแพร่หลาย

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมยุคถัดไป ทำงานเคียงข้างมนุษย์

สิ่งที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทำได้ดีนั้น ได้แก่ การเคลื่อนไหวที่แม่นยำ รวดเร็ว ทำซ้ำได้โดยไม่อ่อนล้า ดังนั้น งานในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเหล่านี้ส่วนมากถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไปแล้วแทบทั้งนั้น แต่ก็ยังเหลืองานอีกจำนวนมากที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้และยังคงต้องอาศัยแรงงานที่เป็นมนุษย์ เช่น งานที่มีความละเอียดอ่อน (fine manipulation) งานที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว (dexterity) งานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่มีความแตกต่างหลากหลาย หรืองานที่ต้องใช้ความคิดในการแยก จำแนกวัตถุต่าง ๆ ที่ซับซ้อน เป็นต้น งานเหล่านี้มนุษย์ยังคงทำได้ดีกว่า และหุ่นยนต์ยังแทนที่มนุษย์ไม่ได้ แต่แรงงานมนุษย์ก็มีต้นทุนสูง อุตสาหกรรมในยุคถัดไปจึงเป็นการทำให้มนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน (collaborative robot) เพื่อดึงจุดเด่นของทั้งคู่มาทำให้ได้ผลลัพธ์โดยรวมที่ดียิ่งขึ้น เช่น หุ่นยนต์จัดเตรียมชิ้นงานที่ประกอบยาก ๆ ให้มนุษย์ประกอบ หรือมนุษย์จำแนกวัตถุแล้วให้หุ่นยนต์นำไปใช้

เดิมทีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้นออกแบบมาให้ทำงานหนัก ๆ แทนมนุษย์ จึงมีกำลังสูง และมักทำงานที่มนุษย์ทำไม่ได้ จึงมีพื้นที่การทำงานของตนเอง และมีรั้วกั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากแขนหุ่นยนต์ไปกระแทกมนุษย์ (ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง) หุ่นยนต์สมัยใหม่ที่จะทำงานเคียงข้างร่วมกับมนุษย์จึงต้องมีระบบความปลอดภัยที่สูงขึ้น ตรวจจับการมีอยู่ของคนงานที่อยู่เคียงข้างได้ นอกจากนี้ การสอนหุ่นยนต์ให้ทำงานได้ง่ายขึ้นก็ทำให้เราสามารถนำหุ่นยนต์ไปช่วยงานต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ปีนี้เราได้เห็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากมายที่ออกแบบมาให้ทำงานเคียงข้างกับมนุษย์ ทั้งจากบริษัทน้องใหม่อย่าง Rethink Robotics และ Universal Robots

ในขณะเดียวกันบริษัทรุ่นพี่อย่าง Fanuc, ABB เองก็ยอมปล่อยให้น้อง ๆ เข้ามาแย่งตลาดไม่ได้ จึงเข็นหุ่นยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ทำงานเคียงข้างมนุษย์ได้ออกมาเช่นกัน

เข้มข้นมากเลยใช่รึเปล่าครับ สำหรับช่วงเวลาเพียงปีเดียว

ในปีหน้าเราจะได้เห็นอะไร

เราคงได้เห็นพัฒนาการและผลิตภัณฑ์ในวงการหุ่นยนต์ออกมาอีกมากมายให้ตื่นเต้น สำหรับเหตุการณ์ที่มีกำหนดการในปีหน้าแล้ว ได้แก่

Jibo และ Buddy จะเริ่มส่งมอบให้ผู้สั่งจอง นอกจากนี้ NTT Docomo ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมของญี่ปุ่นอีกเจ้า คู่แข่งของ SoftBank ก็จะเริ่มจำหน่าย Sota ท้าชน Pepper อีกด้วย เราจะได้ติดตามกันว่า social robot เหล่านี้จะรุ่งหรือไม่

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขัน Picking Challenge ครั้งแรกในปีนี้ ปีหน้า Amazon ก็จะจัดการแข่งขัน Picking Challenge อีก ส่วนโจทย์จะท้าทายมากขึ้นขนาดไหนต้องคอยติดตามกันต่อไป

สงสัยเห็น Amazon ประสบความสำเร็จในการท้าทายนักพัฒนาหุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม Airbus จึงเอาบ้าง เตรียมจัด Airbus Shopfloor Challenge อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินยังใช้แรงงานมนุษย์อยู่มาก เพราะงานประกอบเครื่องบินมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน โจทย์แรกที่ Airbus ท้าทายคือหุ่นยนต์ช่วยเจาะรูสำหรับประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน

รอติดตามชมความก้าวหน้าในวงการหุ่นยนต์กันได้เลย

สวัสดีปีใหม่ครับ 😀

ภาพ

LINE it!