เกษตรยุคถัดไปในญี่ปุ่นอยู่ได้ด้วยหุ่นยนต์

spread-robotic-farm

Spread บริษัทผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรในประเทศญี่ปุ่นวางแผนใช้หุ่นยนต์แทบทุกขั้นตอนสำหรับการปลูกผักในโรงเรือนในร่ม ที่เมือง Kameoka จังหวัดเกียวโต เริ่มตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนในประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ

หุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงเรือนเป็นแขนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมติดตั้งบนกลไกรางเลื่อน ทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติอื่น ๆ ที่คอยควบคุมแสง อุณหภูมิ ความชื้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงเรือน หุ่นยนต์จะทำงานในเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การย้ายต้นอ่อน การรดน้ำ ตัดแต่ง และเก็บเกี่ยว ยกเว้นเพียงแค่การเพาะเมล็ดที่จะยังใช้มนุษย์อยู่ การใช้หุ่นยนต์จะสามารถเพิ่มผลผลิตผักกาดหอมจากวันละ 21,000 ต้นเป็น 50,000 ต้น ในขณะที่ต้นทุนค่าแรงลดลงครึ่งหนึ่ง และในอนาคตจะเพิ่มให้ถึงวันละ 500,000 ต้นภายใน 5 ปี และจะขยายโรงเรือนเพิ่มไปยังพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย

เป้าหมายของฟาร์มหุ่นยนต์นี้ไม่ใช่การแทนมนุษย์ด้วยเครื่องจักร แต่เป็นระบบที่มนุษย์สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้ และทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการเกษตรมากยิ่งขึ้น

นอกจาก Spread แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้กับการเกษตร ตั้งแต่ชุด exoskeleton สำหรับเกษตรกรสูงอายุโดยบริษัท Kubota หุ่นยนต์เก็บสตรอเบอร์รี่จาก Shibuya Seiki หุ่นยนต์เก็บมะเขือเทศจาก Panasonic

ภาพ WIRED
ที่มา the guardian

LINE it!