เมื่อมือกลองมีแขนที่สามสร้างสรรค์ผลงานดนตรี

third-arm-robot-drummer

ศาสตราจารย์ Gil Weinberg และทีมงานจาก Georgia Tech ได้พัฒนาแขนกลที่ใช้สำหรับช่วยมือกลองตีกลอง/ฉาบ/ไฮแฮท เพิ่มอีกมือหนึ่ง โดยอาศัยข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ที่ตีกลองและเนื้อเพลงเป็นตัวตัดสินว่าจะตีเพิ่มในจังหวะใด

เคยมีโครงการสร้างแขนเทียมเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่ทำแขนกลให้กับนักดนตรีมือกลองที่ชื่อ Jason Barnes ซึ่งประสบอุบัติเหตุในปี ค.ศ. 2012 ด้วยเหตุไฟฟ้า 22,000 โวลต์ช็อตขณะทำความสะอาดท่อดูดควันในร้านอาหารจนต้องตัดแขนตัวเองทิ้ง ตัวเขาเองพยายามที่จะแฮ็กแขนเทียมให้สามารถช่วยเขาตีกลองได้ แต่ก็ไม่ทำได้ไม่ดีนัก จนศาสตราจารย์ Weinberg และทีมงานเข้ามาช่วยสร้าง แขนกลตีกลองสองไม้ ให้ (ดูวิดีโอด้านล่าง)

แขนที่สามที่พัฒนาขึ้นแตกต่างจากกรณีที่ทำให้ Jason Barnes ที่เป็นแขนเทียมสำหรับผู้พิการ แต่คราวนี้เป็นแขนสำหรับคนปกติ สำหรับมือกลอง โดยติดอยู่ที่หัวไหล่ มีเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของแขนด้านที่ติดแขนหุ่นยนต์นี้ไว้ ตัวอย่างการทำงานเช่น เมื่อมือกลองเล่นไฮแฮท แขนหุ่นยนต์จะไปตีฉาบ และเมื่อมือกลองไขว้สองมือตีกลองเล็ก แขนหุ่นยนต์จะเอื้อมไปตีกลองทอมแทน

จังหวะการตีของแขนหุ่นยนต์นี้จะขึ้นจะปรับเปลี่ยนไป (improvise) ตามเสียงหลักและจังหวะความเร็วที่นักดนตรีเล่น มอเตอร์ของแขนจะคอยปรับระดับไม้กลองให้ขนานกับหน้ากลองเสมอ และออกจังหวะการตีให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดจากโปรแกรมที่ตั้งไว้ให้เล่นสัมพันธ์กับท่วงท่าของนักดนตรี

ทางทีมบอกว่า งานต่อไปคือจะใช้สัญญาณไฟฟ้าจากสมอง (EEG) เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการกำหนดจังหวะการเล่นเพลงให้ดีขึ้น

Weinberg ยังกล่าวถึงประโยชน์อื่น ๆ ของแขนหุ่นยนต์ลักษณะนี้ เช่น หมอมีแขนที่สามช่วยหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ ระหว่างผ่าตัด หรือ ช่างมีแขนที่สามช่วยในการซ่อมหรือทดลอง การเริ่มต้นโครงการกับแขนตีกลองที่ต้องกำหนดจังหวะในการทำงานให้แม่นยำ ถือเป็นการเริ่มต้นที่สมบูรณ์แบบ

ลองรับฟังเสียงตีกลองจากแขนหุ่นยนต์ได้จากวิดีโอด้านล่างเลยครับ

ที่มาและภาพ gizmag

LINE it!