โครงการหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจ SMEs ในยุโรป

Hephestos Project
โครงการ Hephestos

ธุรกิจ SME (Small- and Medium-sized Enterprises) ในยุโรปจะไปต่อได้และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอีกฝั่งของโลกที่มีค่าแรงงานถูกกว่าได้ หากว่าผู้ออกแบบระบบการผลิตสามารถควบคุมหุ่นยนต์ใช้ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาวิศวกร

Dr. Dragoljub Surdilovic จาก Fraunhofer Institute for Production Systems and Design Technology เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้ร่วมพัฒนาต้นแบบของหุ่นยนต์ชนิดควบคุมด้วยการสาธิตการทำงาน (demonstration-controlled robot) ภายใต้โครงการ HEPHESTOS ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์รูปแบบเก่า ๆ หุ่นยนต์นี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตให้มากขึ้น SMEs สามารถใช้หุ่นยนต์เพียงหนึ่งหรือสองตัวลุยผลิตงานโดยไม่เกี่ยงว่างานจะซับซ้อนเพียงใดได้ และถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการผลิต ผู้ออกแบบฯ สามารถเข้าไปแก้ไขที่ตัวหุ่นยนต์ได้เลยทันที

ไอเดียของหุ่นยนต์สำหรับ SMEs คือ หุ่นยนต์แต่ละตัวทำงานได้หลายอย่าง และเหมาะที่จะใช้ผลิตจำนวนไม่มากได้ (ผลิตน้อยก็ยังคุ้มค่าที่จะลงทุน) หลังจากพิสูจน์ได้แล้วว่าทำได้ ขั้นตอนต่อไปคือ ปรับปรุงแบบหุ่นยนต์ให้ใช้เซนเซอร์ตัวใหม่ที่มีราคาถูกลง

หุ่นยนต์ที่สามารถสอนให้ทำงานได้อย่างเรียบง่าย จะช่วยให้ SMEs หลีกเลี่ยงการเอาต์ซอร์สงานออกไปได้

โครงการ ReconCell
โครงการ ReconCell

ณ วันนี้ ถ้ามีบริษัทหนึ่งต้องการเอาหุ่นยนต์เข้าไปทำงานอัตโนมัติในโรงงาน กว่าจะซื้อ กว่าจะติดตั้งเสร็จ อาจต้องใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรืออาจจะถึงหลายเดือน แล้วถ้าบริษัทนั้นต้องกาเอาหุ่นยนต์มาผลิตของแค่ระดับพันชิ้น เรียกได้ว่าไม่คุ้มแน่นอน

ศาสตราจารย์ Norbert Krüger จาก University of Southern Denmark’s Mærsk Mc-Kinney Møller Institute ภายใต้โครงการ ReconCell กำลังทำงานเพื่อให้เกิดหุ่นยนต์ที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กจัดตั้งไลน์การผลิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงความสามารถของหุ่นยนต์ที่รับการสอนได้โดยการสาธิต (demonstration) หุ่นยนต์จะไม่ได้ลอกเลียนแบบการทำงานตรง ๆ จากการสาธิต แต่หุ่นยนต์จะเข้าใจบริเวณที่ของวางอยู่ การจับของมารวมกัน ทำอย่างไร ฯลฯ

ก่อนให้หุ่นยนต์ทำงานจริง จะมีการซ้อมด้วยการจำลอง (simulation) และปรับจูนกันอย่างดีก่อน ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการเริ่มปรับจูนครั้งแรกเลยกับหุ่นยนต์จริงแบบที่เคยทำกันมา

โครงการนี้จะจบลงในปี ค.ศ. 2018 เป้าหมายคือ จะมีทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในระดับที่นำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จริงสำหรับ SMEs ได้ในอีก 2-3 ปีถัดไป

โครงการ Factory-In-A-Day
โครงการ Factory-In-A-Day

ในขณะที่การเซตอัปเร็วเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ โครงการ Factory-in-a-Day (ข่าวเก่า) ตั้งเป้าที่ทำให้ SMEs เริ่มผลิตของขายได้ในวันเดียวกันกับที่หุ่นยนต์ส่งมาถึงโรงงาน ศาสตราจารย์ Martijn Wisse จาก Delft University of Technology ประเทศเนเธอแลนด์ บอกว่า “ในท้ายที่สุด เราควรจะทำให้การติดตั้งหุ่นยนต์เสร็จเรียบร้อยพร้อมผลิตได้ภายใน 1 วัน”

เมื่อระยะเวลาติดตั้งนั้นลดลงอย่างมาก SMEs จะสามารถเริ่มผลิตของได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นแปลว่า เวลาที่เสียไปกับการติดตั้งไลน์การผลิตถูกเปลี่ยนเป็นรายได้กลับมาแทน นอกจากนี้ โครงการต้องการทำให้หุ่นยนต์ทำงานกับคนได้อย่างใกล้ชิดในพื้นที่เดียวกันด้วย โดยการติดตั้งเซนเซอร์บางชนิดเพิ่มเติม ตรงนี้จะทำให้ประหยัดเงินไปกับการทำระบบความปลอดภัย และประหยัดพื้นที่ได้อีก เพราะพื้นที่เฉพาะที่ใช้วางหุ่นยนต์กับคนที่เคยแยกกันนั้นถูกจับมารวมกัน

โครงการนี้เดินทางมากว่าครึ่งแล้ว ตัวต้นแบบมีส่วนติดต่อภายนอกสมบูรณ์ พร้อมที่จะพัฒนาในส่วนซอฟต์แวร์การมองเห็น (เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของคนและหุ่นยนต์) มีบางบริษัทเสนอตัวขอซื้อระบบนี้เรียบร้อยแล้วด้วย

ที่มาและภาพ Robohub

LINE it!