เมื่อหุ่นยนต์เริ่มผ่าตัดดีกว่าหมอ

star-robo-surgery

วารสาร Science Translational Medicine ได้ตีพิมพ์งานวิจัย Smart Tissue Autonomous Robot (STAR) หุ่นยนต์ที่สามารถผ่าตัดได้เองอัตโนมัติ และมีผลงานที่ดีกว่าหมอผู้มีประสบการณ์

งานวิจัยนี้พัฒนาเทคนิคใหม่สำหรับระบบเย็บแผลอัตโนมัติโดยใช้แขนหุ่นยนต์ และเป็นการทดสอบแนวคิดของหุ่นยนต์ที่สามารถทำการผ่าตัดได้อัตโนมัติภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ (supervised autonomy) STAR ถูกโปรแกรมให้เย็บติดแผลที่ลำไส้ (intestinal anastomosis) ก่อนเริ่มทำงานจะต้องทำการติดแท็ก near-infrared fluorescent (NIRF) ในเนื้อเยื่อลำไส้ก่อน (ทำโดยมนุษย์) แล้วระบบจะใช้กล้องที่สามารถตรวจจับแสงในย่าน near-infrared ได้เพื่อตรวจจับสภาพพื้นผิวสามมิติของเนื้อเยื่อลำไส้ จากนั้นระบบจะวางแผนการเย็บและสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้เองหากเนื้อเยื่อมีการเคลื่อนที่ในระหว่างปฏิบัติงาน

STAR ถูกทดสอบโดยให้เย็บลำไส้หมู ทั้งแบบเย็บในห้องวิจัย นอกตัวหมู (ex vivo) และเย็บในตัวหมูที่ได้รับการวางยาสลบ (in vivo) แล้ววัดผลโดยดูจากความเรียบร้อย สม่ำเสมอของรอยเย็บ และความแข็งแรงทนทานของรอยเย็บต่อการรั่วซึม ในการทดสอบ STAR สามารถเย็บแผลได้สำเร็จเองอัตโนมัติถึง 60% ของจำนวนครั้งที่ทดสอบ และในอีก 40% สามารถทำได้สำเร็จแต่ต้องมีมนุษย์ช่วยเหลือเล็กน้อย และเมื่อเทียบรอยเย็บกับแผลที่เย็บโดยหมอผู้เชี่ยวชาญแล้ว STAR เย็บได้สม่ำเสมอและทนต่อการรั่วซึมได้ดีกว่า

งานวิจัยครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าหุ่นยนต์จะมาแทนหมอผู้เชี่ยวชาญในเร็ววันนี้ แต่จะมาเป็นผู้ช่วย ทำงานร่วมกับหมอมากกว่า โดยหมอจะเป็นผู้วางแผนการรักษา แล้วให้หุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจที่ใช้แรงงาน ซ้ำซาก โดยมีหมอกำกับอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะลงมือในงานที่ยาก การร่วมมือกันระหว่างหมอและหุ่นยนต์จะช่วยให้การรักษาทำได้ดีและปลอดภัยมากขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ่นยนต์ทำการผ่าตัด ทุกวันนี้มีการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น da Vinci ที่ทำการผ่าตัดโดยมีหมอควบคุมอยู่ตลอด หรือการผ่าตัดอวัยวะที่สามารถยึดตรึงให้อยู่กับที่ได้ เช่น การผ่าตัดข้อเข่า ทำเลสิก หรือการปลูกผม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่หุ่นยนต์ทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มเองโดยอัตโนมัติ

ภาพและที่มา IEEE Spectrum

LINE it!