ซากุระเบอร์ 2 ทำงานท่ามกลางแก๊สอันตรายได้ ไม่ระเบิด

sakura-2

การปฏิบัติหน้าที่ของหุ่นยนต์ภายใต้สภาวะแวดล้อมอันโหดร้าย เช่น ในโรงไฟฟ้าฟุกุชิม่า (1), (2) ที่มีกัมมันตรังสี หรือในโรงงาน ในเหมืองถ่านหินใต้ดินที่มีแก๊สอันตรายรั่วไหลนั้น หุ่นยนต์จะต้องได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี ไม่พังไม่ระเบิดได้ง่าย ๆ บริษัท Mitsubishi Heavy Industries ร่วมกับ Chiba Institute of Technology (CIT) ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ Sakura No. 2 และเพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้

หุ่นยนต์ Sakura No. 2 ใช้วิธีการอัดแรงดันไว้ในตัวหุ่นยนต์ให้มากกว่าแรงดันภายนอกสองเท่าเพื่อไม่ให้แก๊สอันตรายจากภายนอกรั่วเข้ามายังในตัวหุ่นยนต์ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่อยู่ และใช้เคสที่ทนต่อการระเบิด แบ่งแยกส่วนภายในตัวหุ่นยนต์ ได้แก่ ส่วนลิเธียม-ไออนแบตเตอรี่ ระบบจัดการพลังงาน มอเตอร์ไฟฟ้า และวงจรควบคุม ในกรณีโครงสร้างแตกหักจนทำให้อากาศในตัวหุ่นยนต์ไหลออกไปข้างนอกได้ ระบบจ่ายไฟของตัวหุ่นยนต์จะหยุดการทำงานอย่างรวดเร็วก่อนที่แก๊สภายนอกจากไหลเข้ามาแทนที่จนทำอันตรายต่อวงจร

ตัวหุ่นยนต์ออกแบบมาเพื่องานหลัก 3 อย่าง คือ งานสำรวจบริเวณที่มีแก๊สอันตราย งานตรวจสอบพื้นที่ในกรณีฉุกเฉิน และงานซ่อมบำรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีสเปกคร่าว ๆ ดังนี้

  • ขนาด 710 x 420 x 540 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก 60 กิโลกรัม
  • ความเร็วในการเคลื่อนที่สูงสุด 1.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • เคลื่อนที่ไปบนพื้นเอียงได้ถึง 45 องศา
  • ทำงานต่อเนื่องได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ควบคุมไร้สายได้ไกล 100 เมตร
  • ควบคุมผ่านสายใยแก้วนำแสงได้ไกลถึง 1,000 เมตร
  • มีกล้องและเซนเซอร์ตรวจับแก๊ส
  • ผ่านมาตรฐาน TIIS ของญี่ปุ่น

เป้าหมายถัดไปของทีมพัฒนาคือ ทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและเพิ่มแขนหุ่นยนต์เข้าไป

ที่มาและภาพ Mitsubishi Heavy Industries ผ่านทาง New Atlas

LINE it!