ย้อนมองวงการหุ่นยนต์ปี พ.ศ. 2559

ปี พ.ศ. 2559 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนับว่าเป็นปีที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ออกจากวงการอุตสาหกรรมและงานเฉพาะทางต่าง ๆ แล้วเข้ามาอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างมาก มาดูกันว่าปีที่ผ่านมานี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง

วงการหุ่นยนต์ในปี 59 นี้คงไม่มีหัวข้อใดร้อนแรงไปกว่าปัญญาประดิษฐ์และรถอัตโนมัติได้อีกแล้ว ทั้ง 2 หัวข้อนั้น เรียกได้ว่าปรากฎอยู่ในข่าวที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปแทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว

ปีทองแห่งปัญญาประดิษฐ์

เริ่มจากต้นปีเลยก็คือ ศึกครั้งสำคัญระหว่างปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์ในเกมโกะ เกมที่มีความซับซ้อนมาก จนถึงกับมีการทำนายโดยผู้เชี่ยวชาญว่าปัญญาประดิษฐ์คงไม่ชนะมนุษย์ไปเป็นอีก 10 ปี แต่การแข่งขันก็จบลงโดยที่ AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์จาก DeepMind สามารถเอาชนะ Lee Sedol แชมป์โลกจากเกาหลีใต้ไปได้ 4 ต่อ 1 กระดาน ข่าวการแข่งขันนี้ถูกนำเสนอโดยสื่อทั่วไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ได้รับความสนใจโดยผู้คนทั่วไปในวงกว้าง

หลังจากนั้นตลอดทั้งปีก็เรียกได้ว่ามีข่าวการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในงานด้านต่าง ๆ มากมายแทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว ตั้งแต่ วาดภาพ แต่งเพลงป๊อป แต่งเพลงคลาสิก แต่งนิยาย สร้างหนังตัวอย่าง ทำบัญชี พิพากษาคดีความ วิเคราะห์โรค คาดเดาคำพูดจากอ่านความเคลื่อนไหวของปาก เข้ารหัสข้อความ ผู้ช่วยสอน เรียกได้ว่าแทบทุกวงการเลยทีเดียว ใครอยากรู้ว่าอาชีพของตัวเองมีโอกาสถูกหุ่นยนต์/ปัญญาประดิษฐ์มาแทนที่สูงขนาดไหนดูได้จากงานวิจัยของ Oxford ได้เลย

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีหลาย ๆ บริษัทก็เริ่มเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาเป็นตัวชูโรง นำโดย IBM ที่นำ Watson ไปให้บริการต่าง ๆ หลายด้าน Google Amazon Microsoft Apple ก็พยายามดันผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ของตนเองให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น

รถไร้คนขับเริ่มให้บริการจริง

หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ ได้ทำการทดสอบเทคโนโลยีรถไร้คนขับบนถนนจริงมาซักพักแล้ว ปีนี้เป็นปีที่เริ่มมีการใช้รถไร้คนขับให้บริการผู้โดยสารจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น nuTonomy ที่เริ่มทดลองให้บริการในสิงคโปร์ Uber เริ่มทดลองให้บริการที่พิตตส์เบิร์ก เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงรถบรรทุกไร้คนขับจาก Otto ก็เริ่มทดสอบขนส่งสินค้าแล้ว

แน่นอนว่าหนทางการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ย่อมไม่ราบรื่น ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น รถของ Google เองก็ประสบอุบัติเหตุในขณะที่ขับเคลื่อนในระบบอัตโนมัติเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เคยประสบอุบัติเหตุตอนผู้ทดสอบเป็นผู้ควบคุมรถ) Tesla เองซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดความสามารถ Autopilot ให้เจ้าของรถได้ใช้กัน ก็ประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรง เมื่อ Tesla Model S คันหนึ่งวิ่งในระบบ Autopilot ผ่านแยก แล้วมีรถบรรทุกสีขาววิ่งผ่านหน้า ระบบ Autopilot แยกแยะรถบรรทุกสีขาวจากท้องฟ้าไม่ได้ จึงชน ทำให้เจ้าของรถ Tesla เสียชีวิต

เมื่อมีผู้ทดสอบรถไร้คนขับมากขึ้น หน่วยงานด้านความปลอดภัยบนทางด่วนของสหรัฐฯ NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) จึงได้ออกแนวทางการทดสอบเทคโนโลยีไร้คนขับ และได้ส่งจดหมายถึงบริษัท Comma.ai (ก่อตั้งโดย geohot ผู้ที่โด่งดังจากการ jailbreak iPhone)  ซึ่งวางแผนจะจำหน่าย Comma One ระบบอัปเกรดรรถทั่วไปให้เป็นรถไร้คนขับในราคา 999 เหรียญสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าระบบมีความปลอดภัยหรือไม่ และขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบของ Comma One ทำให้ทาง Comma.ai ตัดสินใจยกเลิกการจำหน่าย Comma One ไป

ประเด็นร้อนแรงอื่น ๆ รองลงมาได้แก่

การเข้าซื้อกิจการหุ่นยนต์

บริษัทหุ่นยนต์ถูกเข้าซื้อมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ปี 59 นี้มีดีลร้อนแรงมาก ๆ ถึง 2 รายการ คือ GM เข้าซื้อ Cruise Automation บริษัทด้านเทคโนโลยีรถไร้คนขับด้วยมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท ซึ่งนับได้ว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการเข้าซื้อบริษัทด้านหุ่นยนต์ อีกดีลหนึ่งคือ Midea Group บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีนซื้อ Kuka บริษัทหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสัญชาติเยอรมันที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งดีลนี้ก็ทำลายสถิติที่ GM เข้าซื้อ Cruise Automation เพิ่งทำไว้หมาด ๆ

แต่เทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นยังใหม่และยังต้องพัฒนาต่อไปอีกไกล ไม่ใช่ว่าถูกซื้อแล้วแปลว่าจะรุ่ง Boston Dynamics เองซึ่งเคยเป็นข่าวดังเมื่อถูกซื้อโดย Google บัดนี้เหมือนว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจจะไม่เข้ากัน และมีข่าวว่า Google จะขาย Boston Dynamics ออกไป และบริษัทหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าเป็นผู้ซื้อก็คือ Toyota Research Institute

Exoskeleton เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น

exoskeleton หรือชุดหุ่นยนต์ที่ช่วยทำให้ผู้สวมใส่มีความสามารถมากขึ้น เช่น มีแรงเยอะขึ้น หรือช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตกลับมาเดินได้ ถูกพัฒนามาเป็นเวลานานแล้ว ผู้พัฒนาที่มีบทบาทมาก ๆ ได้แก่ Ekso Bionics จากสหรัฐอเมริกา (นำทีมโดย Prof. Kazerooni จาก UC Berkeley) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีพัฒนาไว้ใช้ในทางทหาร แล้วภายหลังนำมาใช้ในทางการแพทย์ ในฝั่งญี่ปุ่นเองก็มี Cyberdyne ที่พัฒนาออกมาใช้ในทางการแพทย์

ปี 59 นี้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาหลายตัว เช่น Phoenix จาก US Bionics (สปินออฟมาจากห้องวิจัยของ Prof. Kazerooni เช่นกัน) ซึ่งเป็น exoskeleton ที่ราคาถูกที่สุด MAX exoskeleton แบบ modular จากบริษัทเดียวกัน รวมถึงบริษัทใหญ่ ๆ หลายรายก็เข้ามาร่วมวง exoskeleton เพิ่มเติม เช่น Hyundai, Panasonic

นอกจากนี้ในปี 59 นี้ยังมี Cybathlon การแข่งขันโอลิมปิกสำหรับผู้พิการที่ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือ ซึ่ง exoskeleton เป็นหนึ่งในหมวดการแข่งขัน

หุ่นยนต์เพื่อน (companion robot) ยังจุดไม่ติด

ถึงแม้จะได้รับความสนใจอย่างมากในปีก่อนหน้ากับเจ้าหุ่นยนต์ที่จะมีเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน อย่าง Pepper และ Jibo แต่ผ่านไปทั้งปีก็ยังไม่ได้สร้างความนิยมเพิ่มขึ้นซักเท่าไหร่ Jibo เองที่มีกำหนดจำหน่ายในปี 59 สุดท้ายก็ยังไม่ได้วางจำหน่าย ส่วน Pepper เองก็ไม่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ใช้ตามบ้านซักเท่าไหร่ มีใช้กันแค่เป็นกิมมิกหน้าร้านต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถที่ยังจำกัดของเทคโนโลยีเซนเซอร์และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ Pepper ยังทำอะไรไม่ได้มาก

Pepper แสดงในงานประชุมที่ชิบะ ญี่ปุ่น
ภาพจาก http://blogs.ft.com/photo-diary/tag/pepper/

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีทั้งหลายพยายามเอาปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองมาให้บริการอำนวยความสะดวกในบ้าน เช่น Amazon Alexa, Google Home, Apple Siri และ HomeKit, Microsoft Cortana อาจจะทำให้หุ่นยนต์ประจำบ้านนั้นมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับได้

ปี พ.ศ. 2559 นี้ ถือว่าเป็นปีที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้รับความสนใจ และมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปเราคงได้เห็นหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้นเรื่อย ๆ

สวัสดีปีใหม่ครับ 🙂

LINE it!