สิ่งที่ทีมหุ่นยนต์งูของ CMU เรียนรู้จากการกู้ภัยแผ่นดินไหวเม็กซิโก

Biorobotics Lab ที่ Carnegie Mellon University ได้รับการติดต่อให้นำหุ่นยนต์งูไปช่วยเหลืองานค้นหาผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเม็กซิโก Matt Travers และ Howie Choset ได้เล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการนำหุ่นยนต์ไปปฏิบัติงานจริง ๆ ดังนี้

  • หน้างานเป็นสถานที่ที่อันตราย เข้าถึงได้ยาก ถึงแม้จะมีผู้คนมากมายมาช่วยเหลืองานกู้ภัย แต่การที่มีคนจำนวนมากในสถานที่ที่อันตรายเป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัย
  • สำหรับเจ้าหน้าที่กู้ภัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์หรืออะไร ทุกอย่างเป็นเพียงเครื่องมือ ถ้าใช้งานได้ก็ดีทั้งนั้น
  • เครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักคือแท่งเหล็กและไมโครโฟนกำลังสูง แท่งเหล็กใช้ตีไปตามที่ต่าง ๆ ให้เกิดเสียงดัง ให้ผู้ที่ติดอยู่รับรู้ว่ามีผู้มาช่วยเหลือแล้วส่งเสียงร้องซึ่งตรวจจับได้ด้วยไมโครโฟน
  • หุ่นยนต์กู้ภัยมักติดกล้องไว้ แต่สุนัขดมกลิ่นและไมโครโฟนทำงานได้ดีกว่ากล้อง การใช้กล้องต้องมี line of sight จากกล้องไปยังเป้าหมาย แต่กลิ่นและเสียงเดินทางทะลุซากปรักหักพังได้
  • ลำโพงและไมโครโฟนจึงเป็นสิ่งที่ทีมกู้ภัยต้องการให้มีเพิ่มเติมในหุ่นยนต์ เพื่อให้สามารถเพิ่มระยะที่ไมโครโฟนจะเข้าไปในซากปรักหักพังได้ลึกขึ้น
  • เมื่อต้องมี line of sight ถ้าต้องการมองอ้อมสิ่งกีดขวาง เครื่องมือปัจจุบันคือการใช้แท่งติดกล้องยื่นไปส่อง หุ่นยนต์งูมีหน้าที่เดียวกันกับแท่งนี้ แต่ยืดหยุ่นกว่า

สิ่งที่ทีมได้เรียนรู้จากการไปปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงนั้น หลายเรื่องดูเป็นเรื่องตรงไปตรงมาเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าอยู่แต่ในห้องวิจัย ไม่ได้ไปเจอสถานการณ์จริงก็อาจจะมองข้ามไป

ภาพและที่มา IEEE Spectrum

LINE it!