หลายคนน่าจะได้ดูภาพยนต์เรื่อง Interstellar มาแล้ว นอกจากภาพหลุมดำอันตระการตากับคำศัพท์วิทยาศาสตร์อันน่างุนงงแล้ว TARS หุ่นยนต์ผู้ช่วยในเรื่องก็เป็นที่ถูกพูดถึงไม่น้อย (ถึงขนาดที่ว่าหาก TARS เป็นดาราแล้ว โปสเตอร์ภาพยนต์จะออกมาเป็นอย่างไร) เรามาดูเบื้องหลังของ TARS กันเล็กน้อย และดูกันว่าเจ้า TARS นี่ล้ำยุคกว่าหุ่นยนต์ที่มีอยู่ปัจจุบันไปมากน้อยขนาดไหน มีโอกาสที่เราจะได้เห็นหุ่นยนต์แบบ TARS ในชีวิตจริงเร็ว ๆ นี้หรือไม่

หลายคนคงคิดว่าด้วยภาพกราฟฟิกของอวกาศที่อลังการณ์แล้ว ภาพของเข้าหุ่นยนต์ TARS ก็คงถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเช่นกัน แต่ในความจริงแล้ว กว่า 80% ของฉากที่มี TARS อยู่ ถ่ายทำกับหุ่นยนต์หนักเกือบ 100 กิโลกรัมถึง 8 ตัวทีเดียว แค่นี้ก็เห็นแล้วว่า TARS เนี่ยมีตัวตนจริง ๆ นะ 🙂
ทีนี้เรามาลองพิจารณาความสามารถบางอย่างที่เห็นจากในภาพยนต์กันว่า ในปัจจุบันมีหุ่นยนต์ตัวใดที่ทำได้แบบ TARS บ้าง
แปลงร่างได้
เราเห็นหุ่นยนต์แปลงร่างได้ใยภาพยนต์หลายเรื่อง เช่น Terminator, Transformer แต่การแปลงร่างในภาพยนต์เหล่านั้นดูจะล้ำเกินความจริงไปมากหน่อย เพราะแปลงร่างแล้วแทบไม่เหลือเค้าเดิมเลย แปลงได้ขนาดนั้นได้อย่างไร แต่เจ้า TARS นี่ยังพอแปลงแล้วเห็นเค้าเดิมอยู่เยอะ เช่น เดิน 2 ขา เป็นเดิน 3 ขา เป็นกลิ้งด้วยขา ยื่นแขนออกมาหยิบจับสิ่งของ มีงานวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์แปลงร่างได้อยู่มากมาย ส่วนมากมักจะใช้แนวทางของ modular robot คือ หุ่นยนต์ตัวหนึ่งประกอบจากหุ่นยนต์ตัวเล็ก ๆ ที่มีความสามารถจำกัด จำนวนมากประกอบขึ้นเป็นหุ่นยนต์ตัวใหญ่ ซึ่งหุ่นยนต์ตัวเล็กเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจับยึด เชื่อมต่อกันได้ ทำให้เกิดเป็นรูปทรงได้หลายแบบที่มีความสามารถแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ในวิดีโอ
นอกจากการแปลงร่างด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ยังมีหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้โดยอาศัยร่างกายที่อ่อนนุ่ม ยืดหดตัวได้ ดังเช่นงานวิจัยของ iRobot
หุ่นยนต์เดิน 3 ขา
โดยมากเราจะเห็นหุ่นยนต์เดินด้วยขาจำนวนคู่ เช่น 2, 4 หรือ 6 เป็นต้น แต่ TARS มีโหมดเดิน 3 ขา ซึ่งอาจจะแปลกตา แต่ก็มีหุ่นยนต์จริง ๆ ที่เดิน 3 ขา

แบบแรกคือหุ่นยนต์ประเภท passive walker ถือว่าเดินคล้าย TARS มากที่สุดแล้ว เป็นหุ่นยนต์เดินเลียนแบบมนุษย์ คือ อาศัยการแกว่งขาและล้มไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อความง่าย หุ่นยนต์ประเภทนี้จึงทำออกมา 3 ขาแทน 2 ขา เพื่อให้ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มด้านข้าง
หุ่นยนต์เดิน 3 ขาอีกตัว คือ STriDER เป็นผลงานของห้องวิจัย RoMeLa ที่ Virginia Tech หุ่นยนต์ 3 ขาตัวนี้เดินด้วยการแกว่งขาและล้มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่มีรูปแบบการแกว่งขาที่แปลกไม่เหมือนใครเลยทีเดียว ถึงแม้จะไม่เหมือน TARS แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย
วิ่งด้วยล้อขา
นอกจาก TARS จะเดิน 2 ขา 3 ขาได้แล้ว หากต้องการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วก็ยังวิ่งด้วยล้อขา (wheel leg หรือ wheg) ได้อีกด้วย มีหุ่นยนต์หลายตัวที่เคลื่อนที่แบบนี้ได้ ข้อดีของ wheg คือ เคลื่อนที่ได้รวดเร็วและต่อเนื่องเหมือนล้อ แต่วิ่งบนพื้นขรุขระได้เหมือนขา

ตัวแรกคือ OutRunner เป็นหุ่นยนต์ wheg ที่วิ่งเร็วมาก และเคยระดมทุนใน KickStarter (แต่ไม่สำเร็จ)
อีกตัวคือที่จะแนะนำคือ IMPASS จาก RoMeLa อีกเช่นกัน ตัวนี้วิ่งไม่เร็ว แต่สามารถปรับความยาวขาได้ ทำให้ปีนป่ายสิ่งกีดขวางได้ดี
บังคับ joystick
นอกจาก TARS จะเคลื่อนที่ได้หลายท่าทางแล้ว ยังสามารถบังคับ joystick ได้ด้วย (ฉากที่ควบคุมการเชื่อมต่อของยานอวกาศกับสถานีอวกาศขณะหมุนอยู่) หุ่นยนต์จริงที่ทำได้ก็มีเช่นกัน เช่น PIBOT หุ่นยนต์ที่สามารถบังคับ joystick ควบคุมเครื่องบินได้
เล่นมุกตลก
ที่เรียกความสนใจได้ไม่น้อยคือความสามารถของ TARS ในการเล่นมุกตลกที่ช่วยลดความตึงเครียดของภาพยนต์ได้อย่างดี มีงานวิจัยไม่น้อยที่พยายามทำให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ในเชิงสังคมได้ดีขึ้น สื่อสารและเข้าใจมนุษย์มากขึ้น รวมถึงหุ่นยนต์ที่เล่าเรื่องตลกได้ Heather Knight เป็นนักวิจัยคนหนึ่งที่มีความสนใจในการประสานกันระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะได้พัฒนาหุ่นนยนต์ที่เล่าเรื่องตลกและดูการตอบสนองจากผู้ฟังเพื่อเลือกเรื่องตลกเรื่องต่อไปมาเล่า
จะเห็นได้ว่าความสามารถหลาย ๆ อย่างของ TARS นั้นไม่ได้เกินความสามารถที่หุ่นยนต์จริงเลย เหลือก็แค่เอาความสามารถทั้งหมดนั้นมายัดในหุ่นยนต์ตัวเดียว


