รีวิวการใช้งาน Mi Robot Vacuum

ก่อนหน้านี้ทีมงาน ThaiRobotics เคยรีวิว Vileda Virobi หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านที่ถูกที่สุด โง่ที่สุด และฉลาดที่สุดในปฐพี วันนี้ทีมงาน ThaiRobotics กลับมาอีกครั้งกับการรีวิวการใช้งานหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้านที่ฉลาดกว่า Vileda Virobi โดยหุ่นยนต์ที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ คือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เปิดตัวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 มีความน่าสนใจที่ราคา และความสามารถที่อัดเทคโนโลยีมาอย่างเต็มสูบ Mi Robot Vacuum เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยถือเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งใน MIJIA Ecosystem จากที่ก่อนหน้านี้มี หม้อหุงข้าว, เครื่องวัดความดันโลหิตอุปกรณ์พกพาสำหรับไล่ยุง, กล้องวงจรปิด, กาต้มน้ำแบบคุมอุณหภูมิ, เครื่องกรองน้ำ, เครื่องกรองอากาศปากกา, จักรยานไฟฟ้าพับได้, …  ชักเริ่มเยอะ ๆ กลับมาที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นกันก่อนครับ

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ราคา 1,699 หยวน หรือประมาณ 8,500 บาท ผมซื้อมาจาก Mi Shop สาขาเซินเจิ้น (แผนที่) เผื่อใครจะตามไปซื้อ ร้านนี้รับการชำระเงินเป็นสด Apple Pay และบัตรเครดิต/เดบิตที่มีสัญลักษณ์ Union Pay เท่านั้น

Mi Vacuum Robot มีรีวิวการใช้งานภาษาอังกฤษออกมาเยอะพอสมควร ถึงระดับถอดชิ้นส่วนหมดก็มี (ภาษารัสเซีย) ในไทยมีวิดีโอรีวิวพร้อมเสนอขายแบบไม่เป็นทางการอยู่บ้าง ในบทความนี้ จะเน้นประสบการณ์การใช้งานจริงของผู้เขียน และจุดสำคัญต่าง ๆ ที่คิดว่าควรเล่าสู่กันฟังครับ

Mi Shop สาขาเซินเจิ้น

แกะกล่อง

เริ่มต้นกันได้เลย กล่องหน้าตามประมาณนี้ครับ น้ำหนักรวม 6.6 กิโลกรัม (เฉพาะตัวหุ่นยนต์ 3.8 กิโลกรัม)

เปิดกล่องมา จะเห็นว่าประกอบด้วย กล่องเล็กซ้ายมือ A ข้างในเป็นแท่นชาร์จไฟ สายไฟ และแปรงชิ้นเล็กใช้ทำความสะอาดขนแปรงดูดฝุ่นในตัวหุ่นยนต์ ส่วนด้านขวา B เป็นตัวหุ่นยนต์ แพ็คไว้ในกล่องโฟม

คู่มือเป็นภาษาจีนล้วน อยากอ่านตรงไหนก็ใช้แอป Google Translate ถ่ายรูปทำแถบไฮไลท์แปลภาษาให้

ประกอบชิ้นส่วน

ยกหุ่นยนต์ออกจากกล่อง แกะพลาสติกออก แล้วเปิดฝาด้านบน ฝานี้ทำได้ดี เปิดง่าย ถนัดมือ แม้จะตามไปเปิดตอนหุ่นยนต์วิ่งอยู่ก็ตาม

ด้านใน ต้องใช้อย่างน้อยสองนิ้ว เช่น นิ้วโป้งกับนิ้วชี้บีบคลิปล็อกส่วนบนของกล่องเก็บฝุ่น เพื่อถอดออกมาทำความสะอาดได้

ตัวกล่องเก็บฝุ่นความจุ 420 มิลลิลิตร เปิดฝาเทฝุ่นออกได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นฟิลเตอร์กรองฝุ่น แกะแยกออกมาทำความสะอาดได้ง่ายเช่นกัน

   

สภาพกล่องเก็บฝุ่นหลังจากลองสั่งให้ออกไปวิ่งทำงานประมาณ 5 นาที ได้ฝุ่นและเส้นผมกลับมาพอสมควร เอาฝุ่นออกจากฟิลเตอร์ได้ง่าย ๆ ด้วยการตบแผ่นฟิลเตอร์ลงกับพื้นเรียบ ๆ ฝุ่นจะติดกันออกมาเป็นแผง

ส่วนใต้ท้องของหุ่นยนต์ สามารถแกะแปรงออกมาทำความสะอาดด้วยด้วยแปรงเล็ก (สีขาว) ได้

โดยรวมถือว่ากระบวนการถอดประกอบแปรงใต้ท้องและกล่องเก็บฝุ่นออกมาทำความสะอาด ง่าย และไม่ซับซ้อน ผมประทับใจในการออกแบบสไตล์แยกส่วน (modular) ของหุ่นยนต์ตัวนี้มากเป็นพิเศษ

เซนเซอร์รอบทิศ

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mi Vacuum มีเซนเซอร์รอบตัว 12 ชนิด แบ่งตามฟังก์ชันการทำงานคือ

  1. การระบุตำแหน่งตัวเองและสร้างแผนที่ภายในห้อง
    • Laser Distance Sensor เก็บข้อมูลสำคัญคือระยะห่างระหว่างหุ่นยนต์กับกำแพง/สิ่งกีดขวางในแนวราบ เพื่อนำไปสร้างแผนที่ ซึ่ง Xiaomi พัฒนาเองให้เหมาะกับงานภายในบ้าน หมุนได้ 360 องศา 1,800 รอบต่อนาที
    • Wall Sensor เช็คว่าหุ่นยนต์วิ่งไปชนสิ่งกีดขวางหรือไม่ อย่างเช่น ชนกับกำแพง
    • Ultrasonic Radar Sensor เช็คว่ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ โดยไม่ต้องรอหุ่นยนต์เดินไปชน และเช็คได้มากกว่าแนวราบ หลายระดับความสูง
    • Cliff Sensor เช็คกว่าหุ่นยนต์จะวิ่งตกบันได้หรือไม่
    • Electronic compass เช็คทิศทางของหัวหุ่นยนต์
    • Gyroscope / Accelerometer เช็คความเร็วเชิงมุมและอัตราเร่งของหุ่นยนต์
    • Speedometer เช็คความเร็วล้อของหุ่นยนต์
  2. การตรวจสอบความพร้อมทำงานของหุ่นยนต์
    • Dust bin sensor เช็คว่าใส่กล่องเก็บฝุ่นเข้าไปในหุ่นยนต์แล้วหรือยัง
    • Drop sensor ตรวจสอบว่าหุ่นยนต์ถูกวางไปบนพื้นแล้วหรือยัง
รูปจาก miui.com

ลองใช้งาน

เริ่มจากการประกอบแท่นชาร์จ แล้วเสียบปลั๊กค้างไว้ นำหุ่นยนต์เข้าไปวางชาร์จไฟ โดยหันด้านหลังเข้าไปประกบกับแท่นชาร์จตามรูปด้านล่าง

ที่ตัวหุ่นยนต์ การออกแบบมีรูปลักษณ์หน้าตาสวยและเรียบง่ายตามสไตล์ Xiaomi ส่วน User Interface ไม่ซับซ้อน มีสองปุ่มให้กด คือ 1. ปุ่ม HOME กดแล้วหุ่นยนต์จะวิ่งกลับมายังแท่นชาร์จเอง และ 2. ปุ่ม POWER กดค้างเพื่อเปิด/ปิดเครื่อง กดหนึ่งครั้งเพื่อเริ่ม/หยุดทำงาน แต่หากกดค้างสองปุ่มพร้อมกันจะเป็นการรีเซตการเชื่อมต่อกับสัญญาณไวไฟปัจจุบัน

ใช้งานแบบ manual

วิธีการใช้งานที่ง่ายที่สุดคือ กดปุ่ม power ของหุ่นยนต์ 1 ครั้ง หุ่นยนต์จะเริ่มทำงานทันทีโดยวิ่งออกจากแท่นชาร์จไปดูดฝุ่นทั่วห้องแล้วกลับมาจอดที่แท่นชาร์จเหมือนเดิมโดยอัตโนมัติ ผมได้ลองสั่งทำงานโดยที่ไม่มีแท่นชาร์จวางอยู่ โดยวางหุ่นยนต์ไว้กลางห้องแล้วกดปุ่ม power ผลปรากฏว่าหุ่นยนต์ทำงานได้ตามปกติ เดินดูดฝุ่นทั่วห้องแล้วกลับมายังจุดเริ่มต้นที่กลางห้องเหมือนเดิม ทั้งนี้ ระหว่างที่หุ่นยนต์ทำงาน หากเรากดปุ่ม Home หุ่นยนต์จะวิ่งกลับมายังแท่นชาร์จ/จุดเริ่มต้นทันที

การทำงานแต่ละครั้ง แม้จะไม่ได้ควบคุมผ่านแอปบนมือถือ ข้อมูลแผนที่การทำงานจะถูกบันทีกไว้ที่ตัวหุ่นยนต์แล้วอัปเดตไปยังมือถือภายหลังเมื่อมีการเชื่อมต่อกับมือถือ

ใช้งานแบบควบคุมผ่าน Mi Home App

อย่างแรกที่ทำเลยก็ต้องไปโหลดแอป Mi Home (Android, iOS) ครับ ในที่นี้ จะพูดถึง Android App ทำงานบนมือถือ Nexus5 เมื่อโหลดเสร็จ จะมีตัวเลือกขึ้นมาให้เลือกประเทศ (รูปขวา) ณ จุดนี้ ต้องเลือก Mainland China เท่านั้นครับ หากเลือกที่อื่น จะไม่มีฟังก์ชันควบคุมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นให้ใช้งาน แล้วก็เดาได้เลยว่าในแอปจะเป็นภาษาจีนทั้งหมด มีชาวรัสเซียทำภาษาอังกฤษกำกับทุกเมนูเป็นวิดีโอไว้ให้ดูที่นี่ และนาย Olimpiu-Cristian Mihai ทำแอปเวอร์ชันดัดแปลงพร้อมปลักอินเปลี่ยนภาษาไว้ที่วิดีโอนี้ (ดาวน์โหลดไฟล์ .apk ได้จากลิงค์ในคำอธิบายของวิดีโอ)

     

จากนั้นเริ่มต้นเชื่อมต่อมือถือเราเองกับตัวหุ่นยนต์ โดยกดปุ่ม Home กับ Power พร้อมกันค้างไว้ จนไฟข้าง ๆ ปุ่มกระพริบและมีเสียงหุ่นยนต์พูดภาษาจีนว่าอะไรสักอย่างออกมา นั่นแปลว่าพร้อมเชื่อมต่อแล้ว เรากลับมาเช็คที่มือถือ จะเห็นชื่อไวไฟของหุ่นยนต์ อย่างในรูป จะเห็นชื่อ rockrobo-vacuum-v1_miapCD88 ให้เรากดเชื่อมต่อ แล้วเข้าไปเพิ่มรายชื่ออุปกรณ์ควบคุมในแอป Mi Home ซึ่งในที่นี้ก็คือหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเรา (Mi Home เป็นแอปรวมสำหรับควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในอาณาจักร Xiaomi ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ “IoT” นอกเหนือจากหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็จะมีพวกหม้อหุงข้าว กาต้มน้ำ โคมไฟ เครื่องกรองอากาศ ฯลฯ)

     

เมื่อพร้อมแล้วก็เริ่มกดปุ่มทำงาน จากมือถือได้เลย แผนที่และตำแหน่งของหุ่นยนต์จะอัปเดตแบบเรียลไทม์มาบนมือถือ จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับความแรงของสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เราใช้ หากควบคุมจากนอกบ้านผ่าน 3G สปีดต่ำ ๆ ก็อาจจะช้าหน่อย

แผนที่อัปเดตแบบรีลไทม์

ผลงานจากการวิ่งรอบห้อง 1 รอบเป็นดังนี้ ดูจากรูปด้านล่าง แอปรายงานว่าพื้นที่ดูดฝุ่น 19 ตารางเมตร แบตเตอรรี่เหลือ 79% ใช้เวลา 29 นาที ทั้งนี้ ผมเริ่มจากตอนที่หุ่นยนต์ชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 100% สั่งให้ทำงานด้วยความแรงดูดฝุ่นเต็มที่ (ระดับ 3 จากที่มีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับ) หุ่นยนต์อาจจะเหลือแบตเตอรี่มากกว่านี้ถ้าเลือกแรงลมดูดต่ำลง เวลาน่าจะน้อยลงกว่านี้ ถ้าไม่เดินไปแกล้งขวางมันบ่อย ๆ (สังเกตหลาย ๆ จุดที่มันเดินเป็นวงกลงรอบ ๆ ขาโต๊ะ ขาเก้าอีก … หรือขาคน) ข้อมูลเป็นทางการบอกว่าทำงานได้นาน 2 ชั่วโมงครึ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนโซนที่เป็นที่ว่าง อย่างเช่นด้านล่างสุด คือโซนที่หุ่นยนต์เห็นจาก LDS Sensor ว่าเป็นห้องว่างน่าจะเข้าไปดูดฝุ่นได้ แต่อันที่จริง เข้าไปไม่ได้เพราะมีธรณีประตูขวางอยู่ และหุ่นยนต์ก็รู้ตอนมันเดินไปถึงจุดนั้นเพราะมี Wall Sensor ช่วยตรวจจับสิ่งกีดขวาง

แผนที่ห้องทั้งหมดหลังจากทำงานได้ครบ 1 รอบ

นอกจากนี้ยังมีโหมดดูดฝุ่นเฉพาะพื้นที่เล็ก ๆ เมื่อกดเริ่มต้นทำงาน หุ่นยนต์จะทำงานเฉพาะโซนเล็ก ๆ รอบตัวมัน ไม่วิ่งไปทั่วห้อง ดังรูปด้านล่าง (ณ ตอนนี้ หุ่นยนต์ได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปตามใจผู้ใช้แล้ว ชื่อว่า Duk Dik ครับ 🙂 )

หรือหากยังไม่ถูกใจก็เปิดโหมดบังคับด้วยมือได้เลย หน้าตา GUI ควบคุมหุ่นยนต์บนมือถือเป็นแบบรูปด้านล่างนี้ครับ (ดูการวิดีโอสาธิต)

ประวัติการทำงานของหุ่นยนต์จะถูกบันทึกไว้และเรียกดูได้ทั้งหมด

มีเมนูตรวจสอบว่าประสิทธิภาพการทำงานของแปรงปัด ถังเก็บฝุ่น และแผ่นกรองฝุ่นหมดอายุหรือยัง ถ้าหมดแล้วก็สั่งซื้อผ่านแอปได้เลย ในรูปด้านล่างบอกว่าอุปกรณ์ปัจจุบันยังมีสภาพ 100% อยู่ แต่พอใช้ไป ๆ ตัวเลขสีเขียว ๆ นี้จะลดลงครับ

เนื่องจากหุ่นยนต์เชื่อมต่อกับไวไฟได้ การอัปเดตซอฟต์แวร์บนตัวหุ่นยนต์ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน

  

  

ประสบการณ์การใช้งาน

  • ดูดได้สะอาดขนาดไหน – สะอาดจากฝุ่นเหมือนใช้เครื่องดูดฝุ่น แต่ถ้าจะให้เนี๊ยบ ก็ต้องถูพื้นตามด้วยอีกที
  • เสียง – เสียงดังพอ ๆ กับหุ่นยนต์เจ้าอื่น ๆ ที่มีขายในท้องตลาด สร้างความรำคาญในการสนทนากับคนอื่นได้ แต่ก็ยังสนทนากันรู้เรื่อง  (vacuumguide วัดความดังได้ 61 เดซิเบล สำหรับแรงดูดระดับ 1, 64 เดซิเบล สำหรับแรงดูดระดับ 2, และ 68-70 เดซิเบลสำหรับแรงดูดระดับ 3)
  • การควบคุมหุ่นยนต์ – ง่ายทั้ง manual และ remote control แต่ส่วนที่ยากคือการเซตอัปในครั้งแรก
  • การดูแลรักษา – ถอดล้างทำความสะอาดง่ายมาก ส่วนถ้าเครื่องเกิดมีปัญหาน่าจะลำบากมาก เพราะไม่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเมืองไทย ณ ตอนนี้ ใช้มา 3 เดือนยังไม่พบปัญหาอะไร
  • ราคา – ถูกมาก พี่จีนทำได้ไง (ฮ่าาา) ถูกกว่ายี่ห้ออื่นที่มีความสามารถในการวางแผนเดินทำความสะอาด ควบคุมผ่านแอปจากระยะไกลได้ และพลังในการดูด ราคาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท
  • มีด้วยน่าจะดี ไม่มีไม่เป็นไร – หากหุ่นยนต์ตัวนี้มีกล้องติดมาด้วยคงจะดีไม่น้อย เจ้าของบ้านจะได้เปิดแอปเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์แล้วเปิดกล้องเข้ามาดูสภาพภายในบ้านได้ระหว่างที่ไม่อยู่บ้าน

สรุป

ถ้าอยากได้เครื่องดูดฝุ่น ซื้อเครื่องดูดฝุ่น ถ้าอยากได้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Mi Vacuum คุ้มราคามาก ๆ

LINE it!