หุ่นยนต์ไอนสไตน์ช่างคุย (อาจ)จะมาทำให้คุณรักวิทยาศาสตร์

Hanson Robotics (ผู้พัฒนา Sophia หุ่นยนต์สาว ที่ถูกแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล) วางขาย Professor Einstein หุ่นยนต์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่จะมาชวนเด็ก ๆ คุยสนุกเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 หมื่นบาท)

Hanson Robotics พัฒนาหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์มานานแล้ว ก่อนหน้านี้ก็พัฒนาหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ขนาดเท่าจริงมาแล้ว คราวนี้พัฒนาไอนสไตน์ขนาดเล็กลงมาเป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะส่วนตัวเพื่อจำหน่ายในตลาดผู้บริโภคทั่วไป

หุ่นยนต์ไอน์สไตน์สูง 37 เซนติเมตร

  • ใช้หน่วยประมวลผล ARM7
  • ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชาร์จได้ NiMH สามารถทำงานได้ 3 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
  • มีไมโครโฟนหลายตัวเพื่อจับทิศทางของเสียง
  • มีกล้องเพื่อติดตามใบหน้า เพื่อให้สบตากับผู้ใช้ได้
  • มีเซนเซอร์วัดระยะด้วยอินฟราเรดด้านล่าง เพื่อป้องกันการเดินตกโต๊ะ
  • มีมอเตอร์ 9 ตัว เพื่อใช้เคลื่อนที่ ขยับแขน และแสดงสีหน้า
  • ทำงานคู่กับแอป Stein-O-Matic บนเพื่อแสดงสื่อการสอนวิทยาศาสตร์

Andy Rifkin CTO ของ Hanson Robotics กล่าวว่ามีหลายงานวิจัยบ่งชี้ว่าหุ่นยนต์ที่จับต้องได้นั้นสามารถเพิ่มสัมฤทธิผลในการศึกษาได้ดีกว่าตัวละครเสมือน (ในจอภาพ)

ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง Hanson Robotics จะประสบความสำเร็จกับไอน์สไตน์หรือไม่ก็ขึ้นกับว่าเด็ก ๆ ชอบหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ขนาดไหน มีหลายปัจจัยที่ทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างมาเพื่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์สำเร็จหรือล้มเหลว เช่น

  • Uncanny Valley คือปรากฏการณ์ที่เมื่อหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ระดับหนึ่งจะดูน่ากลัว แต่ถ้าผ่านจุดนั้นไปได้ มนุษย์ก็จะรู้สึกดีด้วย หุ่นยนต์ไอน์สไตน์นี้ถึงแม้จะมีลักษณะที่ดูออกว่าเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้เหมือนมนุษย์ 100% ยังดูเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งทำให้ไม่ได้ดูน่ากลัว
  • ความฉลาด ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์และการสื่อสารแบบธรรมชาตินั้นยังถือว่าห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ (Google Assistant, Siri, Cortana, Alexa ที่เป็นแนวหน้าแล้ว ยังคุยรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง) การออกแบบหุ่นยนต์ให้ดูฉลาดกว่าที่หุ่นยนต์ทำได้จริงอาจสร้างความคาดหวังที่สูงเกินไป (ไอน์สไตน์เชียวนะ) และเมื่อหุ่นยนต์ไม่สามารถตอบสนองได้ฉลาดแบบที่คาดหวัง ก็จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกผิดหวังได้ (ผู้เขียนบทความต้นฉบับพบว่าหลาย ๆ ครั้งหุ่นยนต์ไอน์สไตน์ก็ไม่สามารถเข้าใจคำถามที่ถามไปได้ เช่น 2+2 = ?) หุ่นยนต์หลายตัว ๆ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จึงถูกออกแบบมาไม่ให้ดูฉลาดมากนัก จะได้ไม่สร้างความคาดหวังให้ผู้ใช้มาก (ตัวอย่างเช่น Relay จาก savioke – อ้างอิงจากหนังสือ Sprint : How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days)

ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าไอน์สไตน์จะชวนให้เด็ก ๆ หลงรักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ หุ่นยนต์ไอน์สไตน์วางจำหน่ายแล้วบน eBay ในราคาพิเศษ 250 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมบัตรกำนัล 50 เหรียญสหรัฐฯ และเดือนหน้าจะจำหน่ายในช่องทางอื่นเพิ่มเติมในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ ใครสนใจก็จับจองกันได้เลย

ภาพและที่มา IEEE Spectrum

LINE it!