เมื่องานวิจัยไม่ทำเงิน Google จึงขาย Boston Dynamics และ Schaft ให้ SoftBank

หุ่นยนต์ในภาพจากซ้ายไปขวา Pepper จาก SoftBank, AlphaDog และ Handle จาก Boston Dynamics และ Schaft

มีข่าวมาซักระยะหนึ่งแล้วว่า Google เล็งขาย Boston Dynamics ออกไป ตัวเต็งหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นผู้เข้าซื้อคือ Toyota Research Institute แต่แล้วก็กลายเป็น SoftBank จากญี่ปุ่นที่เข้าซื้อ Boston Dynamics พ่วงด้วย Schaft จาก Google ไป

ประเด็นที่คาดว่าเป็นสาเหตุให้ Google ขาย Boston Dynamics ออกไปนั้นคือ งานของ Boston Dynamics นั้นไม่สามารถถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งแนวทางการทำงานของทีม Boston Dynamics ก็ไม่เข้ากับทีมวิจัยอื่น ๆ ของ Google

ในด้าน SoftBank นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่การเข้าซื้อ Alderbaran Robotics ในปี ค.ศ. 2012 แล้วก็สามารถขายหุ่นยนต์ Pepper ได้จำนวนมาก และก็ได้ลงทุนใน Fetch Robotics บริษัทผลิตหุ่นยนต์ขนของในคลังสินค้า

ส่วน Schaft เอง ก็เป็นทีมที่สปินออฟมาจาก JSK Robotics Laboratory ที่ The University of Tokyo ซึ่งก็มีผลงานที่น่าประทับใจ แต่ก็ยังไม่มีผลงานที่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์

Boston Dynamics เองก็ไม่ได้มีประวัติผลงานที่ดีนัก ถึงแม้ว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวจะสร้างความหวือหวาให้กับผู้พบเห็น แต่จากมุมมองผู้ใช้งานที่จ่ายเงินกลับไม่เป็นอย่างนั้น BigDog และ AlphaDog ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทุ่มงบวิจัยไปเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยขนของทางการทหาร แต่ด้วยเสียงที่ดังเกินไป ก็ทำให้ตกเป็นเป้าให้ข้าศึกได้ง่าย

ก็ต้องติดตามกันดูต่อไปว่า Boston Dynamics และ Schaft หลังไปอยู่ใต้ร่ม SoftBank ที่มี Alderbaran Robotics (ปัจจุบันคือ SoftBank Robotics) จะเป็นอย่างไร จะมีผลงานเชิงพาณิชย์ออกมาได้หรือไม่

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถึงแม้จะมีงานวิจัยสุดล้ำและการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็ใช่ว่าจะสร้างผลงานที่นำออกมาใช้ได้จริงจัง หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีแนวทางที่สอดคล้องกัน นี่เป็นประเด็นที่ทำให้งานวิจัยในไทยหลาย ๆ งานไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเอกชนหรือผู้ให้ทุนก็มีความคาดหวังอย่างหนึ่ง นักวิจัยเองก็มีแนวทางการทำงานของตัวเองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ก็ไม่สามารถผลักดันผลงานออกมาได้

ภาพและที่มา IEEE Spectrum

LINE it!